เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/663
วันที่ :   3 กุมภาพันธ์ 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการวิจัยหรือให้บริการทางวิชาการ
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 39 มาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 มาตรา 81 (1) (ฎ) และมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ซึ่งมีสำนักงาน ก. เป็นส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ ริเริ่ม จัดดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการ การศึกษา ค้นคว้าเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้แก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน ให้คำปรึกษาทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งริเริ่ม จัดดำเนินการ และให้บริการทางด้านการอบรม การสัมมนา และการพัฒนาองค์การและบุคลากรแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน สำนักงาน ก. ขอหารือ ดังนี้
    1. สำนักงาน ก. เข้าลักษณะเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และผู้จ่ายเงินได้ที่จ่ายเงินได้ให้สำนักงาน ก. มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่สำนักงาน ก. หรือไม่
    2. สำนักงาน ก. ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย :   1. สำนักงาน ก. เป็นส่วนงานในสังกัดมหาวิทยาลัยซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล มหาวิทยาลัยไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น เมื่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนผู้จ่ายเงินได้ให้แก่สำนักงาน ก. ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายเงินให้แก่มหาวิทยาลัย จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
    2. สำนักงาน ก. เป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมีการให้บริการรับจ้างทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่หน่วยงานรัฐและเอกชน เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาและเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ จึงมีประเด็นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้
        2.1 กรณีหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมีการให้บริการวิจัย หรือให้บริการทางวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือกิจการของรัฐตามกฎหมาย หรือหน่วยงานทางธุรกิจที่ไม่ใช่นิติบุคคลที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ การให้บริการดังกล่าวของมหาวิทยาลัยจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12) เรื่อง กำหนดสาขาและลักษณะการประกอบกิจการ การให้บริการวิจัยหรือการให้บริการทางวิชาการ ตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
        2.2 กรณีหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมีการให้บริการวิจัย หรือให้บริการทางวิชาการ ให้แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ หากเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ การให้บริการดังกล่าวของมหาวิทยาลัยจะเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร และหากมหาวิทยาลัยมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกินกว่าหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มูลค่าฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ทั้งนี้ ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-01-2024