เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/707
วันที่ :   4 กุมภาพันธ์ 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการดำเนินธุรกรรมทางการเงินในตลาดการเงิน
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 2 มาตรา 39 มาตรา 40 (4) (ก) มาตรา 69 ทวิ มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 364)ฯ พ.ศ. 2542 ประกอบกับ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 82)ฯ ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2543
ข้อหารือ :   การทำธุรกรรมตามสัญญาซื้อคืนหรือขายพันธบัตรภาคเอกชน มีลักษณะเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ขายหลักทรัพย์กับผู้ซื้อหลักทรัพย์ โดยผู้ขายตกลงที่จะขายหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อและสัญญาว่าจะซื้อคืนในอนาคต ในขณะเดียวกันผู้ซื้อตกลงที่จะซื้อหลักทรัพย์จากผู้ขายพร้อมทั้งสัญญาว่าจะขายคืนให้แก่ผู้ขายในอนาคตตามราคาและกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า จึงเข้าลักษณะเป็นกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืนตามบทนิยามตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 364) พ.ศ. 2542 ซึ่งผู้ขายจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าว และไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร ขอหารือประเด็นที่เกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว ดังนี้
    1. กรณีสถาบันการเงินอยู่ในฐานะผู้ซื้อหลักทรัพย์ซึ่งต้องชำระเงินค่าซื้อหลักทรัพย์ (Purchase Price) ให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลอื่น ๆ) สถาบันการเงิน ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
    2. กรณีสถาบันการเงินอยู่ในฐานะผู้ขายหลักทรัพย์ การที่สถาบันการเงินได้ชำระเงินที่เป็นค่าซื้อหลักทรัพย์ ตามราคา ณ วันตกลงทำการซื้อขาย (Purchase Price) บวกด้วยผลตอบแทน (Price Differential) ที่คำนวณจากอัตราร้อยละ (ต่อปี) ที่คู่สัญญาตกลงกัน (Pricing Rate) ให้แก่ผู้ซื้อ (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลอื่น ๆ) เมื่อครบกำหนดให้ซื้อคืนตามสัญญาแล้ว สถาบันการเงิน จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย :   ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 364) พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ที่กระทำกิจการซื้อขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการขายหลักทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งการได้รับยกเว้นภาษีนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 82)ฯ ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2543 ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น จึงพิจารณาได้ดังนี้
    1. กรณีสถาบันการเงินอยู่ในฐานะผู้ซื้อหลักทรัพย์ (ผู้ให้กู้) ได้จ่ายเงินค่าซื้อหลักทรัพย์ (Purchase Price) ให้แก่ผู้ขายหลักทรัพย์ (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลอื่น ๆ) ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 364) พ.ศ. 2542 สถาบันการเงินย่อมไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด
    2. กรณีสถาบันการเงินอยู่ในฐานะผู้ขายหลักทรัพย์ (ผู้กู้) ได้ชำระเงินที่เป็นค่าซื้อหลักทรัพย์ตามราคา ณ วันตกลงทำการซื้อขาย (Purchase Price) บวกด้วยผลตอบแทน (Price Differential) (คำนวณจากอัตราร้อยละต่อปีที่คู่สัญญาตกลงกัน (Pricing Rate) ของราคาหลักทรัพย์ ณ วันที่ซื้อขาย (Purchase Price)) ให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลอื่น ๆ) เมื่อครบกำหนดให้ซื้อคืนตามสัญญานั้น การจ่ายผลตอบแทน(Price Differential) ให้แก่ผู้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินทำนองเดียวกับดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น สถาบันการเงินในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งเข้าลักษณะเป็นองค์การของรัฐบาล ตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร และได้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับ (ผู้ซื้อหลักทรัพย์) ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ทวิ และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากการจ่ายดังกล่าว เป็นการจ่ายให้แก่ผู้รับ (ผู้ซื้อหลักทรัพย์) ซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่เข้าลักษณะ เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร สถาบันการเงินไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

 

ปรับปรุงล่าสุด: 15-01-2024