เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/3442
วันที่ :   6 มิถุนายน 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีได้รับค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทประกันภัย
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 77/1 (8) (10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554
ข้อหารือ :   บริษัท ก. ประสบเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงาน และได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันอัคคีภัย จำนวนเงิน 87,476,864.51 บาท มูลค่าต้นทุนสุทธิของทรัพย์สิน 43,453,889.41 บาท (ราคาตามบัญชี 93,719,189.95 บาท หักค่าเสื่อมราคาสะสม 50,265,300.54 บาท) ค่าชดใช้สูงกว่าความเสียหายจำนวน 44,022,975.10 บาท บริษัท ก. นำค่าชดใช้ที่สูงกว่าความเสียหายมารวมคำนวณเป็นรายได้ ในแบบ ภ.ง.ด.50 ตามข้อ 2 (ก) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 58/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหาย-หรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538 โดยลงรายการเป็นรายได้อื่น พร้อมกับนำไปลงเป็นรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ในจำนวนเท่ากัน เนื่องจากบริษัท ก. เข้าใจว่ารายได้ค่าชดใช้ที่สูงกว่าความเสียหายจำนวน 44,022,975.10 บาท เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 จึงขอหารือว่า เงินค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ได้รับดังกล่าวต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่อย่างไร
แนววินิจฉัย:   1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 บัญญัติให้ยกเว้นภาษีเงินได้ แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่เป็นค่าสินไหมทดแทนซึ่งได้รับจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเหตุผลในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ดังนั้น หากความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานของบริษัท ก. มิได้เกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554 บริษัท ก. จึงต้องนำเงินค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินกว่าความเสียหายของทรัพย์สินถือเป็นรายได้ที่ต้องรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
    2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่บริษัท ก. ได้รับไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1 (8) (10) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 24-04-2024