เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/2251
วันที่ :   12 เมษายน 2565
เรื่อง :   ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 39 มาตรา 40 (4) (ช) มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ :   1. บริษัทประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และมีหุ้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) มีความประสงค์ที่จะปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ โดยจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทและเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนบริษัทเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและความคล่องตัวในการขยายและประกอบกิจการของกลุ่มบริษัท
    2. การปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยบริษัทฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับดังปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย โดยมีกฎหมายหลักที่สำคัญ คือ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 34/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่พร้อมกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เดิมของบริษัทจดทะเบียนเพื่อปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ (ประกาศ ทจ. 34/2552)
    3. ตามประกาศ ทจ. 34/2552 บริษัทต้องเป็นผู้ดำเนินการให้มีการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทในครั้งนี้ โดยมีขั้นตอนสำคัญคือ
        3.1 คณะกรรมการของบริษัทจะต้องมีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ และการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยบริษัทฯ ต้องแจ้งมติดังกล่าวของคณะกรรมการบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที ทั้งนี้แผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการจะต้องได้รับความเห็นชอบเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
        3.2 บริษัทมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการต่อสาธารณะตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ
        3.3 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจะต้องมีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ (ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง) และการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน (ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท)
        3.4 บริษัทจะดำเนินการให้มีการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง เป็นบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ โดยบริษัทโฮลดิ้งจะต้องมีลักษณะครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหลักทรัพย์และกฎหมายบริษัทมหาชนจำกัดกำหนด
        3.5 บริษัทโฮลดิ้งจะต้องขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่พร้อมกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทฯ จากสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ บริษัทโฮลดิ้งมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วย
        3.6 เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตให้บริษัทโฮลดิ้งทำการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ของบริษัทโฮลดิ้งพร้อมกับทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทตามที่ระบุไว้ในแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ บริษัทโฮลดิ้งจะต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนและคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อส่งให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายของบริษัทฯ และเริ่มทำการเสนอซื้อหุ้นบริษัท (Tender Offer) ซึ่งเป็นการทำคำเสนอซื้อโดยการแลกหุ้นและไม่มีทางเลือกในการชำระราคาหุ้นเป็นเงินสด ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจะได้หุ้นของบริษัทโฮลดิ้งแทนหุ้นของบริษัทในจำนวนหุ้นเท่าเดิม โดยไม่ได้รับเงินสดจากการแลกหุ้นจากที่กล่าวมาข้างต้น ขั้นตอนการแลกหุ้นเพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เฉพาะของสำนักงาน ก.ล.ต.และต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้ง การขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจึงเป็นไปเพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการอย่างแท้จริง มิใช่การขายหุ้นเพื่อหากำไรในทางการค้าและยังไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจใด ๆ ต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ดังนั้น หุ้นของบริษัทโฮลดิ้งที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับมาจากการแลกหุ้นดังกล่าวจึงควรรับช่วงเอามูลค่าต้นทุนเดิมของหุ้นของบริษัทสืบทอดต่อเนื่องไปจนกว่าจะมีการจำหน่ายหุ้นนั้นออกไปอย่างแท้จริงในอนาคต
        3.7 ในทางปฏิบัติอาจมีกรณีที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทบางรายไม่นำหุ้นของบริษัทมาแลกเป็นหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งผู้ถือหุ้นรายนั้นจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทต่อไป โดยกรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของสำนักงาน ก.ล.ต. แต่อย่างใด
        3.8 เมื่อการทำเสนอซื้อสิ้นสุดลง บริษัทโฮลดิ้งจะต้องรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และจดทะเบียนเพิ่มทุนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงแจ้งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อขอให้รับหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน พร้อมทั้งเพิกถอนหุ้นของบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ (Delisting) โดยวันที่หุ้นของบริษัทโฮลดิ้งเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะตรงกับวันที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิกถอนหุ้นของบริษัท
        3.9 ภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทเสร็จสิ้นลง บริษัทจะต้องแจ้งรายงานการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นต่อสำนักงาน คปภ. ภายใน 15 วัน
    4. ภายหลังการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ จะเป็นดังนี้
        4.1 บริษัทโฮลดิ้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนบริษัท โดยบริษัทยังคงประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่อไปเช่นเดิม
        4.2 ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ที่นำหุ้นของบริษัทมาแลกเป็นหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งในขั้นตอนการแลกหุ้น จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง
        4.3 บริษัทโฮลดิ้งจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทในลำดับชั้นเดียวกันกับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่ไม่ได้นำหุ้นของบริษัทมาแลกเป็นหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งในขั้นตอนการแลกหุ้น
    5. การปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทโดยการที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทโอนหุ้นของบริษัทให้แก่บริษัทโฮลดิ้ง และบริษัทโฮลดิ้งออกหุ้นใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในจำนวนหุ้นเท่าเดิมเป็นการตอบแทน โดยผู้ถือหุ้นของบริษัทจะไม่มีทางเลือกในการรับค่าตอบแทนเป็นเงินสดตามข้อเท็จจริงนั้น บริษัทมีความประสงค์จะขอหารือ ดังต่อไปนี้
        5.1 ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ สามารถโอนหุ้นของบริษัทให้แก่บริษัทโฮลดิ้งตามมูลค่าต้นทุนเดิมของผู้ถือหุ้นแต่ละราย เพื่อแลกกับหุ้นใหม่ของบริษัทโฮลดิ้งเพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทได้ และในกรณีที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรแล้ว ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถึงแม้ว่าการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการโอนตามมูลค่าต้นทุนเดิมของผู้ถือหุ้นแต่ละราย ซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าตลาดของหุ้นบริษัทในวันที่โอน ใช่หรือไม่
        5.2 การที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทโอนหุ้นของบริษัทเพื่อแลกกับหุ้นใหม่ของบริษัทโฮลดิ้งดังกล่าว นั้น
            (ก) ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นบุคคลธรรมดา ยังไม่ถือว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทรายดังกล่าวมีผลกำไรหรือผลขาดทุนจากการโอนหุ้นที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
            (ข) ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ยังไม่ถือว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทรายดังกล่าวมีผลกำไรหรือผลขาดทุนจากการโอนหุ้นที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
            (ค) ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทย ยังไม่ถือว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทรายดังกล่าว มีผลกำไรหรือผลขาดทุนจากการโอนหุ้น และไม่ทำให้บริษัทโฮลดิ้งมีหน้าที่ต้องหักภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
        5.3 ในอนาคต เมื่อผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศของบริษัทมีการจำหน่ายหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งที่ได้รับมาจากการแลกหุ้น ผู้ถือหุ้นจะต้องนำราคาขายที่ได้รับหักด้วยต้นทุนเดิมของหุ้นของบริษัทของผู้ถือหุ้นแต่ละรายมารวมคำนวณกำไรขาดทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร หรือคำนวณกำไรจากการโอนหุ้นเพื่อคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ตามแต่กรณี ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย :   กรณีการแลกหุ้นเพื่อการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อจะเปลี่ยนให้บริษัทโฮลดิ้งที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนบริษัทนั้น มีประเด็นพิจารณาดังนี้
    1. กรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย โอนหุ้นของบริษัทเพื่อแลกกับหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งที่ตั้งขึ้นใหม่ เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนจากการโอนหุ้นของบริษัทที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากการแลกหุ้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงโครงสร้างการถือหุ้นเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากสัดส่วนการถือหุ้น จำนวนหุ้น และราคาหุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง ของผู้ถือหุ้นทุก ๆ ราย ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้น จำนวนหุ้น และราคาหุ้นเช่นเดิม ก่อนการโอนหุ้น ถือได้ว่าผู้ถือหุ้นนำหุ้นของบริษัทแลกกับหุ้นออกใหม่ของบริษัทโฮลดิ้ง ในราคาทุนเดิมของผู้ถือหุ้นแต่ละราย เป็นเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากภายหลังมีการจำหน่ายหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งที่ได้รับแลกมา ผู้ถือหุ้นจะต้องนำราคาขายที่ได้รับหักด้วยต้นทุนเดิม มารวมคำนวณกำไรขาดทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
    2. กรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โอนหุ้นของบริษัทเพื่อแลกกับหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งที่ตั้งขึ้นใหม่ เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนจากการโอนหุ้นของบริษัทถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากกรณีการโอนหุ้นตามราคาทุนเดิมของผู้ถือหุ้นแต่ละรายผู้โอนหุ้นจึงยังไม่มีผลประโยชน์ที่ได้รับซึ่งตีเป็นราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทโฮลดิ้งในฐานะผู้รับโอนจึงไม่ต้องหักภาษีและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
    อย่างไรก็ดี หากภายหลังผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวข้างต้น มีการขายหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งที่ได้รับแลกมาในราคาเกินกว่าต้นทุนเดิม เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่เกินกว่าที่ลงทุนตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
    3. กรณีผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เป็นบุคคลธรรมดา โอนหุ้นของบริษัทเพื่อแลกกับหุ้นใหม่ของบริษัทโฮลดิ้ง เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถือหุ้นได้รับเป็นค่าตอบแทนจากการโอนหุ้นของบริษัทถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ถือหุ้นต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนจากการโอนหุ้นมาคำนวณเพื่อหาผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนหุ้น แต่เนื่องจากกรณีการโอนหุ้นในราคาที่เท่ากับมูลค่าที่ลงทุน ผู้โอนหุ้นจึงยังไม่มีผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนหุ้น ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากภายหลังมีการจำหน่ายหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งที่ได้รับแลกมา ผู้ถือหุ้นจะต้องนำราคาขายที่ได้รับหักด้วยต้นทุนเดิมในการคำนวณเพื่อหาเงินได้ที่เกินกว่าที่ลงทุนตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 16-05-2024