เลขที่หนังสือ | : กค 0702/2129 |
วันที่ | : 18 เมษายน 2567 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคิดเงินเพิ่ม สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 27 และมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบ ภ.ง.ด.51) ฉบับปกติ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และได้ชำระภาษีดังกล่าวไว้แล้ว ต่อมาพบว่าบริษัท ก. มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักไว้ระหว่างเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2562 จำนวนน้อยกว่าที่ได้ใช้เครดิตไปในการยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว ซึ่งเมื่อคำนวณใหม่ให้ถูกต้องแล้ว ทำให้บริษัท ก. ชำระภาษีไว้ขาด รวมทั้งต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 บริษัท ก.ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการยื่นแบบเกินกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 โดยได้ปรับปรุงประมาณการกำไรสุทธิลดลง เพื่อให้คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วจะได้เท่ากับจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักไว้จริงรวมกับภาษีที่ชำระไว้แล้วตามแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับปกติ บริษัท ก. จึงไม่มีจำนวนภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม ดังนั้น กรณีที่บริษัท ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับเพิ่มเติม โดยไม่มีภาษีต้องชำระ ซึ่งเป็นการยื่นแบบเกินกำหนดเวลาและได้ยื่นภายหลังการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 จะเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับปกติ หรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | : กรณีที่บริษัท ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับปกติ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 ภายในกำหนดเวลา ถือว่าการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับปกติมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วและบริษัทฯ จะต้องชำระภาษีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับปกติ บริษัทฯ แสดงจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไว้สูงกว่าจำนวนภาษีที่ถูกหักไว้จริง ทำให้บริษัทฯ ชำระภาษีไว้ขาดไป บริษัทฯ ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ชำระไว้ขาดโดยเริ่มคำนวณเงินเพิ่มนับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบ ภ.ง.ด.51 จนถึงวันที่ชำระภาษีครบถ้วนตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ฉบับเพิ่มเติม โดยมีการปรับปรุงรายการต่าง ๆ ใหม่ เพื่อให้มีจำนวนภาษีที่ต้องชำระเท่ากับจำนวนภาษีที่ได้ชำระไว้แล้วนั้น ไม่เป็นเหตุให้บริษัทฯ พ้นความรับผิดเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด |