เลขที่หนังสือ | : กค 0702/733 |
วันที่ | : 7 กุมภาพันธ์ 2567 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/2 (1) มาตรา 82/4 มาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร และ มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 |
ข้อหารือ | : บริษัท ก จำกัด (บริษัทฯ) ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ตามสัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคาร ต่อมาบริษัทฯ ตกเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลาย และได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระหนี้ค่าก่อสร้างอาคารดังกล่าวให้แก่สถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินได้รับชำระหนี้ค่าก่อสร้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้างของบริษัทฯ โดยตรงแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทฯ จึงได้มีหนังสือแจ้งให้สถาบันการเงินนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร สถาบันการเงินจึงขอหารือว่า สถาบันการเงินจะเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรได้หรือไม่ ถ้าได้จะต้องนำส่งด้วยวิธีใด |
แนววินิจฉัย | : กรณีบริษัทฯ ก่อสร้างอาคาร เป็นการให้บริการตามสัญญาจ้างทำของ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ในฐานะผู้ให้บริการ มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง และออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ว่าจ้าง ตามมาตรา 82/4 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ว่าบริษัทฯ ได้โอนสิทธิเรียกร้องใน ค่าก่อสร้างให้แก่สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องก็ไม่ทำให้ ความรับผิดตามประมวลรัษฎากรระหว่างบริษัทฯ และผู้ว่าจ้างเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด เมื่อสถาบันการเงิน ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้รับชำระเงินค่าก่อสร้างจากผู้ว่าจ้างแทนบริษัทฯ บริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ว่าจ้างและยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และในกรณีที่บริษัทฯ ตกเป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทฯ เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวมีอำนาจ ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทฯ จึงเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการยื่นแบบ ภ.พ.30 และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนบริษัทฯ สถาบันการเงินไม่สามารถยื่นแบบและนำส่งภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรโดยตรงได้ |