เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/4855
วันที่ :   9 สิงหาคม 2565
เรื่อง :   ภาระภาษีจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 40 (4) (ฉ), มาตรา 74 (1) (ค), มาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร, พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500, กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ข้อหารือ :   บริษัท B และบริษัท C จะมีการโอนกิจการให้แก่กัน โดยมีการดำเนินการ คือ บริษัท B ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน และนำหุ้นเพิ่มทุนที่ออกใหม่ไปแลกกับหุ้นของบริษัท C จากผู้ถือหุ้นเดิม ทำให้บริษัท B เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัท C และผู้ถือหุ้นของบริษัท C เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท B โดยหลังจากดำเนินการดังกล่าวแล้ว บริษัท C จะโอนกิจการทั้งหมด (ทรัพย์สินและหนี้สิน) ให้แก่บริษัท B และจดทะเบียนเลิกกิจการต่อกระทรวงพาณิชย์ และมีการชำระบัญชี พร้อมทั้งแจ้งการโอนกิจการทั้งหมดและแจ้งเลิกประกอบกิจการต่อกรมสรรพากร ส่วนบริษัท B จะแจ้งการรับโอนกิจการและการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบสำหรับการแจ้งรายการกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร (แบบ ค.อ.1 - ค.อ.4) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการ
    บริษัทจึงขอหารือภาระภาษีสำหรับการโอนกิจการของบริษัท B และบริษัท C ดังนี้
    1. การโอนกิจการทั้งหมด เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 74 (1) (ข) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
    2. การโอนกิจการทั้งหมด จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเฉพาะและอากรแสตมป์หรือไม่
    3. การโอนกิจการทั้งหมด ไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
    4. ในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท C ซึ่งประกอบด้วยนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา หากได้รับประโยชน์จากการนำหุ้นไปแลกกับหุ้นของบริษัท B จะได้รับการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร หรือไม่
แนววินิจฉัย:   1. กรณีตาม 1. บริษัท C จะต้องตีราคาทรัพย์สินที่โอนตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ดังนั้น หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน บริษัท C ไม่ต้องนำผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 74 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร
    2. กรณีตาม 2. การโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท C นั้น หากบริษัท B ผู้รับโอนได้ยื่นแบบ ค.อ.1 - ค.อ.4 และบริษัท C ผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น โดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 การโอนอสังหาริมทรัพย์และการกระทำตราสาร อันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันนั้น ย่อมได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
    3. กรณีตาม 3. กรณีบริษัท B เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท C โดยบริษัท C ได้หยุดประกอบกิจการตั้งแต่วันโอนกิจการเป็นต้นไป เข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมดซึ่งไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท C จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนกิจการดังกล่าว
    4. กรณีตาม 4. ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน เข้าลักษณะเป็นเงินได้ พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร หากการโอนหุ้นของผู้ถือหุ้นของบริษัท C ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการโอนกิจการทั้งหมดนั้น และการโอนกิจการของบริษัท C ให้แก่บริษัท B ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 แล้ว ผู้ถือหุ้นของบริษัท C จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
        4.1 ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 291 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
        4.2 ผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 542) พ.ศ. 2555
    ทั้งนี้ การได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว จำกัดเฉพาะผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการคืนทุนซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโอนกิจการดังกล่าว ซึ่งไม่รวมกำไรและเงินที่กันไว้จากกำไรที่เกิดขึ้นก่อนการโอนกิจการแต่อย่างใด

 

ปรับปรุงล่าสุด: 30-07-2024