เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/5462-5463
วันที่ :   24 กันยายน 2567
เรื่อง :   ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดเก็บภาษีร้านค้าปลีก
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 40 มาตรา 42 ทวิ ถึง มาตรา 48 มาตรา 56 มาตรา 56 ทวิ มาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/2 มาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
   ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8)ฯ
ข้อหารือ :   นาย ก. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในลักษณะร่วมค้ากับบริษัท ข. เพื่อขายสินค้าดังกล่าวให้กับบุคคลทั่วไป นาย ก. จะมีภาระภาษีอย่างไรบ้าง
แนววินิจฉัย:   กรณีบริษัท ข. ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่นาย ก. ไว้เพื่อขาย โดยมิได้ปรากฏว่ามีการทำสัญญาตั้งตัวแทนเพื่อขายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8)ฯ ดังนั้น กรณีนาย ก. ประกอบกิจการร้านค้า จึงมีภาระภาษี ดังต่อไปนี้
    1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
        การประกอบกิจการร้านค้าของนาย ก. เข้าลักษณะเป็นกรณีที่นาย ก. ซื้อสินค้าจากบริษัท ข. และนำไปขายต่อให้กับลูกค้าทั่วไป รายได้จากการขายสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก. มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้
        (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ให้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตามมาตรา 40 (5) (6) (7) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปี ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
        (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ให้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ไปยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินได้พึงประเมินดังกล่าวโดยการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามมาตรา 42 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ถึงมาตรา 47 แห่งประมวลรัษฎากร เหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ ต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และเนื่องจากผู้ดำเนินการทั้งห้ามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว มีจำนวนตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 48 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
    2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
        เมื่อบริษัท ข. ได้ขายสินค้าให้แก่นาย ข. ตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท ข. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/2 และมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีนาย ก. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ขายสินค้าที่ได้ซื้อมาจากบริษัท ข. ให้แก่ลูกค้า จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 77/1 (8) มาตรา 77/2 และมาตรา 78 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-10-2024