เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/3647
วันที่ :   27 มิถุนายน 2567
เรื่อง :   อากรแสตมป์ กรณีสัญญาจ้างทำของ
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 103 มาตรา 104 มาตรา 113 และมาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร บัญชีอัตราอากรแสตมป์
มาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54)ฯ
ข้อหารือ :   บริษัท ก. ได้ทำสัญญาให้คำปรึกษาด้านการขายและการพัฒนาธุรกิจกับบริษัท ข. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ระยะเวลาการให้บริการระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งขณะทำสัญญา บริษัท ก. ไม่ทราบมูลค่าสินจ้างว่ามีจำนวนทั้งสิ้นเท่าไร จึงได้ประมาณค่าสินจ้างตามสัญญาเป็นจำนวน 1,300,000 บาท และได้ชำระค่าอากรตามมูลค่าสินจ้างที่ประมาณไว้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 โดยการให้บริการตามสัญญา บริษัท ก. จะเรียกเก็บค่าบริการเดือนละครั้งรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง และพบว่า ค่าสินจ้างของเดือนพฤศจิกายนที่ได้รับชำระในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 เมื่อรวมกับสินจ้างของเดือนก่อนแล้วมีมูลค่าสูงกว่าสินจ้างที่ได้ประมาณและชำระอากรไว้ ซึ่งบริษัท ก. ได้ชำระค่าอากรเพิ่มเติมครบตามจำนวนเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 บริษัท ก. จึงหารือว่า
    1. กรณีที่คู่สัญญาลงนามในสัญญาแต่ไม่ระบุวันที่ลงนาม บริษัท ก. จะต้องถือวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ทำสัญญาเป็นวันกระทำตราสาร และชำระค่าอากรภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว ใช่หรือไม่ อย่างไร
    2. กรณีที่บริษัท ก. ไม่ทราบมูลค่าสินจ้างที่แน่นอนในวันทำสัญญาจึงได้ประมาณค่าสินจ้างซึ่งต่ำกว่ามูลค่าที่ได้รับชำระจริง บริษัท ก. มีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรเพิ่มเติมทันทีนับแต่ในวันที่ได้รับชำระสินจ้างเกินกว่าที่ประมาณไว้ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ใช่หรือไม่ อย่างไร
    3. หากบริษัท ก. ชำระอากรเพิ่มเติมภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสินจ้างที่สูงกว่าค่าสินจ้างที่ได้ประมาณไว้ บริษัท ก. ไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มอากรและไม่ต้องโทษปรับตามมาตรา 113 และมาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่
    4. เมื่อบริษัท ก. ออกใบแจ้งหนี้และพบว่าสินจ้างสูงกว่าที่ได้ประมาณไว้ บริษัท ก. สามารถชำระอากรเพิ่มเติมโดยไม่รอจนถึงวันที่บริษัท ก. ได้รับชำระเงิน ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:   1. กรณีตาม 1. บริษัท ก. ทำสัญญาให้คำปรึกษาแนะนำด้านการขายและการพัฒนาธุรกิจกับบริษัท ข. โดยตามสัญญาบริษัท ก. มีหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ และบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์ศูนย์บริการข้อมูลของบริษัท ข. รวมถึงติดต่อประสานงาน ให้คำแนะนำ ตอบข้อซักถามหรือดำเนินการตามที่ลูกค้าที่เข้ามาใช้ศูนย์ข้อมูลของบริษัท ข. จะร้องขอ และจะเรียกเงินค่าบริการเป็นรายเดือนในจำนวนที่แตกต่างกัน สัญญาดังกล่าวบริษัท ข. ย่อมมุ่งหวังให้บริษัท ก. ดูแลจัดการศูนย์ข้อมูลให้เป็นไปโดยเรียบร้อยพร้อมให้บริการลูกค้าได้ จึงเข้าลักษณะเป็นการมุ่งถึงผลสำเร็จของงานอันเป็นการจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเข้าลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เมื่อขณะทำสัญญา บริษัท ก. ไม่รู้จำนวนสินจ้างที่แน่นอน จึงได้ประมาณสินจ้างไว้จำนวน 1,300,000 บาท ตามหมายเหตุ (1) แห่งลักษณะตราสาร 4. จ้างทำของ กรณีถือว่า สัญญาดังกล่าวมีสินจ้างตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป บริษัท ก. ในฐานะผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร โดยต้องนำตราสารมาสลักหลังตามระเบียบของกรมสรรพากรก่อนกระทำตราสาร หรือภายใน 15 วันนับแต่วันถัดจากวันกระทำตราสารนั้น ตามมาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (3) (ก) และข้อ 3 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54)ฯ โดยวันที่กระทำตราสารคือวันที่คู่สัญญาลงลายมือครบทุกฝ่ายในสัญญา และให้ถือวันที่ทำสัญญาเป็นวันที่กระทำตราสาร
    2. กรณีตาม 2. และ 3. บริษัท ก. ประมาณสินจ้างและเสียอากรตามจำนวนสินจ้างที่ประมาณไว้แล้ว หากได้รับสินจ้างเป็นคราว ๆ และสินจ้างที่ได้รับในคราวใดเมื่อรวมกับคราวก่อน ๆ แล้วสูงกว่าจำนวนสินจ้างที่ประมาณไว้ บริษัท ก. ต้องไปชำระอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่ได้รับเงินค่าจ้างตามมาตรา 103 (3) มาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร และหมายเหตุ (2) ของลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ กรณีตามข้อเท็จจริงเมื่อบริษัท ก. ได้รับชำระค่าสินจ้างในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 บริษัท ก. ต้องเสียอากรทันทีด้วยการชำระเป็นตัวเงินไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยหากบริษัท ก. ได้ยื่นตราสารต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเสียอากรภายใน 15 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่อนุมัติให้เสียเพียงอากรตามอัตราในบัญชีอากรแสตมป์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัท ก. ได้ชำระอากรเพิ่มเติมในวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องเสีย บริษัท ก. จึงไม่ต้องรับผิดเสียค่าปรับตามมาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร
    3. กรณีตาม 4. หากบริษัท ก. ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าสินจ้างเป็นคราว ๆ และพบว่าสินจ้างคราวที่เรียกเก็บครั้งใดรวมแล้วสูงกว่าสินจ้างที่ประมาณไว้ บริษัท ก. สามารถชำระค่าอากรได้ทันที โดยไม่ต้องรอถึงวันที่ได้รับชำระเงิน

 

ปรับปรุงล่าสุด: 25-10-2024