เลขที่หนังสือ | : กค 0702/6037 |
วันที่ | : 21 ตุลาคม 2567 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 48 มาตรา 50 มาตรา 52 และมาตรา 58 แห่งประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง ฉบับที่ 392 (พ.ศ.2567) |
ข้อหารือ | : กรณีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายกรณีเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงาน ในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัดส่งข้อมูลค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ของบุคลากรเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้จ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยฯ ของเดือนตุลาคม 2564 ให้แก่โรงพยาบาลฯ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โรงพยาบาลฯ ขอหารือเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (เจ้าหน้าที่ฯ) ว่า กรณีโรงพยาบาลฯ จ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565 ที่ได้รับโอนมาจากกระทรวงสาธารณสุขให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และแสดงรายการจ่ายเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ฯ ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยฯ หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : กรณีโรงพยาบาลฯ จ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข ให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือน กันยายน 2565 เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หากโรงพยาบาลฯ จ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ทั้งหมดนั้น ในปีภาษี 2566 เงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้อง นำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดาตามข้อ 1 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 392 (พ.ศ. 2567) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เจ้าหน้าที่ฯ ไม่ต้องนำเงินค่าตอบแทนดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา โรงพยาบาลฯจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด สำหรับกรณีการจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ในปี 2567 เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ดังกล่าว ดังนั้น หากโรงพยาบาลฯ ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ ในปีภาษี 2567 โรงพยาบาลฯ ซึ่งเป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้จ่ายเงินได้จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.1 และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ แสดงรายการการจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยดังกล่าว ทั้งนี้ตามมาตรา 52 และมาตรา 58 แห่งประมวลรัษฎากร และเจ้าหน้าที่ฯ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2567 ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร |