เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/481
วันที่ :   28 มกราคม 2568
เรื่อง :   ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกองทุนรวมลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 39 (3/1), มาตรา 40 (4) (ก) และมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3.13 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 1/2528ฯ และข้อ 4 (4) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ
ข้อหารือ :   เนื่องจากมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้กำหนดให้กองทุนรวมมีฐานะเป็นนิติบุคคลและถือเป็นผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 หน่วยงาน ก. จึงขอสอบถามว่ากรณีที่กองทุนรวมลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ โดยได้รับผลตอบแทนและส่วนชดเชยจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าว กองทุนรวมจะมีภาระภาษีอย่างไร
แนววินิจฉัย:   กรณีกองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศอยู่ในความหมายของบริษัทหรือหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 (3/1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 มีผลให้กองทุนรวมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 มีภาระภาษี ดังนี้
    1. กรณีกองทุนรวมได้รับผลตอบแทนและส่วนชดเชยจากการลงทุนอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (คงที่) ส่วนชดเชยเงินเฟ้อบนดอกเบี้ย และส่วนชดเชยเงินเฟ้อบนจำนวนเงินไถ่ถอนสุดท้าย ที่จ่ายให้แก่ผู้ถือพันธบัตรเมื่อพันธบัตรครบกำหนด ซึ่งได้คำนวณจากวงเงินที่กองทุนรวมลงทุนในพันธบัตร ดังนั้น จำนวนเงินไถ่ถอนในวงเงินดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเกิดตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 นั้น ต้องนำเงินได้จากค่าตอบแทนทั้ง 3 ส่วน มาคำนวณเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดตามมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่กองทุนรวมจะมีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 67 (3) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่เกิดจากเงินฝากหรือตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ถืออยู่ก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562
    2. การคำนวณรายได้ของกองทุนรวมตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระตามข้อ 3.13 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528
    3. กรณีบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ตามข้อ 4 (4) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

 

ปรับปรุงล่าสุด: 05-02-2025