เลขที่หนังสือ | : กค 0702/637 |
วันที่ | : 4 กุมภาพันธ์ 2568 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนต่างด้าว กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 743) พ.ศ. 2565 มาตรา 41 วรรคสาม มาตรา 48 และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : หน่วยงาน ก จ้างผู้บริหารชาวต่างชาติ (คนต่างด้าว) ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และหน่วยงาน ก ได้ยื่นแบบแจ้งรายชื่อผู้ขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 743) พ.ศ. 2565 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 โดยคนต่างด้าวดังกล่าวมีเงินได้ เป็นเงินโบนัสได้รับในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 จึงขอหารือ ดังนี้ 1. การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2567 ของคนต่างด้าวสำหรับเงินได้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ต้องคำนวณตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 743) พ.ศ. 2565 ใช่หรือไม่ และรายได้จากประเทศ A ต้องนำมารวมคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 17 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีใช่หรือไม่ 2. การยื่นรายการคนต่างด้าวสามารถแยกยื่นแบบแสดงรายการเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา(ภ.ง.ด.95) ได้หรือไม่ อย่างไร และหากในการคำนวณเงินได้ก่อนวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 มีภาษีชำระไว้เกินจะสามารถขอคืนเงินภาษีอากรตามแบบ ภ.ง.ด.95 ได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีคนต่างด้าวที่จะได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้คงเหลือจัดเก็บในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ โดยไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 3 และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 743) พ.ศ. 2565 มีลักษณะ ดังนี้ (1) เป็นคนต่างด้าวกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประเภทผู้พำนักระยะยาว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (2) เป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรณีตามข้อเท็จจริง หน่วยงาน ก ไม่ใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และมิได้เป็นผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม การลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดังนั้น เงินได้ที่คนต่างด้าวได้รับ จากหน่วยงาน ก จึงไม่เข้าลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 743) พ.ศ. 2565 2. กรณีคนต่างด้าวตาม 1. ได้รับเงินได้จากหน่วยงาน ก ในปีภาษี 2567 คนต่างด้าวดังกล่าวมีหน้าที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ที่ได้รับในระหว่างปีภาษี ตามมาตรา 48 และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ในประเทศ A ในปีภาษี 2567 นั้น หากปรากฏว่าในปี 2567 คนต่างด้าวดังกล่าว อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ซึ่งถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร คนต่างด้าวดังกล่าว มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ในประเทศ A ในปี 2567 มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย |