เมนูปิด

เลขที่หนังสือ :   กค 0702/1626
วันที่ :   19 มีนาคม 2568
เรื่อง :   ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินไปต่างประเทศสำหรับค่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์และค่าบริการให้แก่ผู้พัฒนาระบบ
ข้อกฎหมาย :   มาตรา 3 (2) มาตรา 40 (8) มาตรา 66 มาตรา 70 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และ พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ประกอบกับข้อบทที่ 5 ข้อบทที่12 วรรคสาม (ก) และ (ค) แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-สหรัฐอเมริกา ข้อบทที่ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ไอร์แลนด์ และ7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ฮังการี
ข้อหารือ :   บริษัท ก. ประกอบกิจการให้บริการด้านพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยในการจัดทำแอปพลิเคชันนั้น บริษัท ก. ได้จัดหาบริษัทผู้เชี่ยวชาญภายนอก ดังต่อไปนี้ เพื่อดำเนินการในด้านต่าง ๆ
    1. บริษัท A มีสถานประกอบการตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย สำหรับการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที พื้นที่จัดเก็บข้อมูล และบริการประมวลผลบนระบบคลาวด์ การให้บริการในกรณีที่บริษัท ก. เกิดปัญหาในการใช้งานการบริการต่าง ๆ บริษัท ก. สามารถแจ้งกรณีปัญหาเหล่านั้นได้ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท A ซึ่งได้จดทะเบียนในต่างประเทศ และการให้บริการใช้งานซอฟต์แวร์บนเว็บไซต์ที่ติดตั้งอยู่บนระบบของบริษัท A โดยจะคิดค่าบริการตามระยะเวลา
    โดยบริษัท A เป็นเจ้าของสิทธิ กรรมสิทธิ์ และผลประโยชน์ทั้งหมดในการให้บริการดังกล่าว และเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมดเช่นกัน โดยสิทธิที่บริษัท A ให้แก่บริษัท ก. เป็นสิทธิที่จำกัด อาจถูกเพิกถอนได้ ไม่เป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียว ไม่อาจให้อนุญาตให้ใช้สิทธิช่วงได้ และไม่อาจโอนให้แก่กันได้
    2. บริษัท B จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไอร์แลนด์ สำหรับการให้บริการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามความต้องการหรือข้อกำหนดของบริษัท ก. ซึ่งเป็นการว่าจ้างให้ทำงานตามใบสั่งงาน และคิดค่าแรงตามจำนวนวันหรือชั่วโมงที่ทำงานให้ บริษัท B ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการของบริษัท ก.
    3. บริษัท C จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศฮังการี สำหรับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามข้อกำหนดของบริษัท ก. โดยเป็นการว่าจ้างให้ทำงานตามใบสั่งงาน และคิดค่าแรงตามจำนวนวันหรือชั่วโมงที่ทำงานให้ และเมื่อบริษัท C เขียนโปรแกรมเรียบร้อยแล้ว กรรมสิทธิ์ในโปรแกรมที่เขียนเป็นของบริษัท ก.
    บริษัทฯ ขอหารือว่า เงินค่าบริการดังกล่าวต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:   1. การจ่ายเงินค่าบริการให้แก่ บริษัท A
    หากค่าบริการที่บริษัท ก. ได้จ่ายให้แก่บริษัท A นั้น ไม่ได้เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายไปเพื่อการให้ได้มาซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและแจกจ่าย หรือสิทธิในการดัดแปลงและเผยแพร่ หรือสิทธิในการดำเนินการอื่นใดที่หากไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนเช่นว่านั้นแล้วจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ได้เป็นค่าตอบแทนที่ได้จ่ายไปเพื่อการให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ (Know-how) ค่าบริการดังกล่าวย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์หรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ตามข้อบทที่ 12 วรรคสาม (ก) และ (ค) แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-สหรัฐอเมริกา แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจ ตามข้อบทที่ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งหาก บริษัท A ไม่ได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามความในข้อบทที่ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-สหรัฐอเมริกา บริษัท A ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยตามความในมาตรา 66 มาตรา 70 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และข้อบทที่ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-สหรัฐอเมริกา
    2. การจ่ายค่าจ้างให้แก่ บริษัท B
    หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ว่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากบริษัท B ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการถาวรตามความในข้อบทที่ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ไอร์แลนด์ บริษัท B ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยตามความในมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และข้อบทที่ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ไอร์แลนด์ แต่หากบริษัท B ไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย เช่นนี้ บริษัท B ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
    อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้นไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของบริษัท ก. แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท B เช่นนี้ ค่าตอบแทนที่บริษัท ก. ได้จ่ายให้แก่บริษัท B ย่อมเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้บริการในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และหากค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ได้เป็นค่าตอบแทนที่จ่ายไปเพื่อการให้ได้มาซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและแจกจ่าย หรือสิทธิในการดัดแปลงและเผยแพร่ หรือสิทธิในการดำเนินการอื่นใดที่หากไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนเช่นว่านั้นแล้วจะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ได้เป็นค่าตอบแทนที่ได้จ่ายไปเพื่อการให้ได้มาซึ่งข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ (Know-how) ค่าตอบแทนนั้นย่อมไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์หรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ ตามข้อบทที่ 12 วรรคสาม (ก) และ (ค) แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ไอร์แลนด์ แต่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจตามข้อบทที่ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ไอร์แลนด์ ซึ่งหาก บริษัท B ไม่ได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามความในข้อบทที่ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ไอร์แลนด์ บริษัท B ก็ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยตามความในมาตรา 66 มาตรา 70 และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และข้อบทที่ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ไอร์แลนด์
    3. การจ่ายค่าจ้างให้แก่ บริษัท C
    การที่บริษัท ก. ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ บริษัท C ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามข้อกำหนดของบริษัทฯ เป็นรายใบสั่งงาน (Job Order) โดยมีคิดค่าแรงตามจำนวนวันหรือชั่วโมงที่ทำงานให้นั้น ประกอบกับตามสัญญาระหว่างบริษัท ก. และบริษัท C ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าให้กรรมสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนเป็นของบริษัท ก. (ผู้ว่าจ้าง) การจ่ายค่าจ้างดังกล่าวย่อมเข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น หากบริษัท C ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการถาวรตามความในข้อบทที่ 5 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ฮังการี เช่นนี้ บริษัท C ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยตามความในมาตรา 66 วรรคสอง และมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 และข้อบทที่ 7 แห่งอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-ฮังการี แต่หากบริษัท C ไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย เช่นนี้ บริษัท C ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 09-04-2025