เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 114/2545

เรื่อง     การจ่ายเงินตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย(Interest rate swap) และสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Cross currency swap)

 

---------------------------------------------

 

                   เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการจ่ายเงินตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย   (Interest rate swap) และสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Cross currency swap)   โดยเหตุที่การจ่ายเงินตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ    อาจทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย  ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร    หรือมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา  70  แห่งประมวลรัษฎากร     กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                  ข้อ 1  สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest rate swap)  เป็นสัญญาทางการเงินประเภทหนึ่งที่คู่สัญญาตกลงที่จะแลกเปลี่ยนภาระการชำระดอกเบี้ยให้แก่กันและกันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย โดยจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระขึ้นอยู่กับจำนวนเงินต้นอ้างอิงตามที่ระบุไว้ในสัญญา   การแลกเปลี่ยนเป็นส่วนที่เกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินต้นกัน คู่สัญญาซึ่งเข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไม่จำต้องมีการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างกัน แต่เมื่อเข้าทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยแล้ว (Interest rate swap) คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระเงินภายใต้ระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาแลกเปลี่ยน เงินผลต่างที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

                  จำนวนเงินต้นอ้างอิงตามวรรคหนึ่ง หมายถึง เงินต้นซึ่งมิใช่จำนวนเงินที่แลกเปลี่ยนกันจริงเมื่อเริ่มทำสัญญาแลกเปลี่ยน เพียงแต่ใช้อ้างอิงเพื่อคำนวณหาจำนวนเงินจากอัตราดอกเบี้ยคงที่และอัตราดอกเบี้ยลอยตัว     

                 ตัวอย่าง บริษัท ก ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคาร A ในต่างประเทศ กำหนดชำระดอกเบี้ยในอัตราลอยตัว   ต่อมาบริษัท ก  ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest rate swap) กับธนาคาร B ในต่างประเทศ โดยตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนั้นจะใช้จำนวนเงินกู้ตามสัญญากู้ฉบับเดิมเป็นเกณฑ์ในการคำนวณดอกเบี้ยที่จะแลกเปลี่ยนกัน และจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตามแต่จะตกลงกัน โดยในแต่ละเดือนนั้น หากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ ธนาคาร B จะส่งเงินผลต่างมาให้แก่บริษัท ก แต่หากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่   บริษัท ก จะส่งเงินผลต่างไปให้แก่ธนาคาร B เงินผลต่างดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                  ข้อ 2  สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Cross currency swap)  เป็นสัญญาทางการเงินประเภทหนึ่งที่คู่สัญญาตกลงที่จะแลกเปลี่ยนภาระการรับจ่ายเงินคนละสกุล ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน  โดยคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งสัญญาจะจ่ายเงินสกุลหนึ่ง  เช่น  บาท  และรับเงินสกุลอื่น เช่น ดอลลาร์สหรัฐ  และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะรับเงินสกุลบาท และจ่ายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งในวันทำสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายอาจมีการแลกเปลี่ยนเงินต้นระหว่างคู่สัญญาในมูลค่าที่เท่ากัน โดยคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนในวันทำสัญญา  สำหรับกรณีที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนเงินต้นระหว่างคู่สัญญา คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งอาจนำเงินตราต่างประเทศไปขายให้แก่สถาบันการเงินอื่นในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราก็ได้ กรณีดังกล่าว คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่มีการจ่ายเงินผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจึงไม่มีเงินได้พึงประเมิน

                  ตัวอย่าง บริษัท ก ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคาร ข ในประเทศจำนวน 40 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่  และบริษัท C ในประเทศสหรัฐอเมริกาทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคาร A ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยคงที่และเพื่อป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน บริษัท ก ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับบริษัท C (Cross currency swap)   กรณีอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันทำสัญญา คือ 40 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้สำหรับการคำนวณภายใต้สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนี้  บริษัท C จ่ายเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บริษัท ก  ในขณะที่บริษัท ก  จ่ายเงินจำนวน 40 ล้านบาท  ให้แก่บริษัท C   เมื่อถึงกำหนดเวลาตามข้อตกลง  บริษัท ก จะต้องจ่ายเงินจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บริษัท C  ซึ่งบริษัท C จะนำไปจ่ายคืนเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคาร A  ในขณะที่บริษัท C จะต้องจ่ายเงิน 40 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ก  ซึ่งบริษัท ก จะนำไปจ่ายคืนเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคาร ข   กรณีดังกล่าว    บริษัท ก และบริษัท C ไม่มีการจ่ายเงินผลต่างของอัตราแลกเปลี่ยนกัน

 

                    ข้อ 3 การทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามข้อ 2 อาจมีการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยควบคู่ไปด้วย เรียกว่า สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย  (Cross currency interest rate swap)    ซึ่งคู่สัญญามีภาระต่างตอบแทนในการชำระเงินตามสัญญาแลกเปลี่ยนตลอดอายุของสัญญาแลกเปลี่ยน โดยที่จำนวนเงินที่ต้องชำระจะคำนวณจากผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยตามที่ตกลงกัน  ซึ่งอาจเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่และหรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว  และเป็นการคำนวณจากเงินตราต่างสกุล    เงินผลต่างที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

                   ตัวอย่าง  บริษัท ก ทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคาร A ในต่างประเทศจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอัตราดอกเบี้ยลอยตัว   บริษัท ก ต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อ

ชำระคืนเงินกู้ซึ่งจะถึงกำหนดชำระในอีก 2 ปี ข้างหน้า และต้องการจะเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามสัญญาเงินกู้เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น บริษัท ก จึงทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยกับธนาคาร  ข  ในประเทศ  (Cross currency interest rate swap)   เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจขึ้น     อัตราแลกเปลี่ยน  ณ  วันทำสัญญา  คือ 40 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้สำหรับการคำนวณภายใต้สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนี้ ดังนั้น ธนาคาร ข จ่ายเงิน 40 ล้านบาทให้แก่บริษัท ก ในขณะที่บริษัท ก จ่ายเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ธนาคาร ข  ตลอดระยะเวลาของสัญญาแลกเปลี่ยน ธนาคาร ข คำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่บริษัท ก คำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นจำนวน 40 ล้านบาท หากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ ธนาคาร ข จะส่งเงินผลต่างมาให้แก่บริษัท ก แต่หากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยคงที่ บริษัท ก จะส่งเงินผลต่างไปให้แก่ธนาคาร ข เงินผลต่างดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร

 

               ข้อ 4 กรณีการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest rate swap) สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Cross currency swap) หรือสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย (Cross currency interest rate swap) ตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งคู่สัญญาผู้รับทำสัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินด้วย หากมีพฤติการณ์ที่แสดงว่า คู่สัญญามีเจตนากู้ยืมเงินกัน แต่ตกลงทำสัญญาแลกเปลี่ยนเพิ่มอีกสัญญาหนึ่งเพียงเพื่อเปลี่ยนแปลงผลตอบแทนปกติที่คู่สัญญาผู้ให้กู้ยืมเงินพึงจะได้รับตามสัญญากู้ยืมเงิน ให้เป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากสัญญาแลกเปลี่ยนแทน โดยมิได้มีเจตนาป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย เงินผลต่างที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยซึ่งคู่สัญญาผู้รับทำสัญญาแลกเปลี่ยนได้รับ จะถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.136/2551 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป )

 

                  ข้อ 5  กรณีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระเงินผลต่างที่เกิดจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest rate swap) สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(Cross currency swap)   และสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย (Cross currency interest rate swap)   ซึ่งคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินผลต่างพร้อมดอกเบี้ย หรือค่าปรับ   เงินดอกเบี้ยหรือค่าปรับเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร

 

             ข้อ กรณีการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย  (Interest  rate  swap) สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Cross currency swap) หรือสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย   (Cross currency interest rate swap) ตามข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3  ซึ่งเป็นผลทำให้คู่สัญญาจ่ายเงินผลต่างที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย เงินผลต่างดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการให้บริการ คู่สัญญาซึ่งจ่ายเงินผลต่างจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

                  กรณีการทำสัญญาแลกเปลี่ยนตามวรรคหนึ่ง มีการเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมในการทำสัญญาแลกเปลี่ยน  ผู้จ่ายเงินค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่  ท.ป.4/2528  เรื่อง  สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26  กันยายน  พ.ศ.2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.104/2544   เรื่อง  สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย  ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2544

 

                 ข้อ 7 บรรดาระเบียบ  ข้อบังคับ  คำสั่ง  หนังสือตอบข้อหารือ  หรือแนวทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก

 

สั่ง ณ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2545

 

 

                                                                    ศุภรัตน์  ควัฒน์กุล

                                                                (นายศุภรัตน์  ควัฒน์กุล)

                                                                   อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022