การรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี
ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องจัดทำรายงานฯ ที่มีข้อความตามแบบที่อธิบดีกำหนดและสรุปผลการตรวจในแต่ละรายเพื่อแนบกับงบการเงิน 5 ข้อ ดังนี้
1. รายงานว่างบการเงินแสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานสำหรับปีสิ้นสุดวันเดียวกันของห้างหุ้นส่วนตรงกับสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือไม่ อย่างไร
2. รายงานว่างบการเงินได้จัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีและวิธีปฏิบัติทางการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือ มาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นหรือไม่ อย่างไร
3. รายงานว่าเอกสารประกอบการลงบัญชี เป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายการที่เกิดขึ้นจริงถูกต้อง เชื่อถือได้ และเกี่ยวข้องกับกิจการหรือไม่ อย่างไร
4. รายงานว่ากิจการได้ปรับปรุงกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางบัญชี ให้เป็นกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร
5. รายงานในกรณีอื่น ๆ ที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมิได้กำหนดไว้ตาม 1.- 4. ข้างต้น
( คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545 แก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.194/2555ฯ )
การรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี กรณีได้จดแจ้งตามพระราชกำหนดว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และได้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดทางบัญชีของผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต และผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามแบบรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่กรมสรรพากรกำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.122/2545 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.194/2555 เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ให้รายงานในข้อ 5 อื่นๆ
ตัวอย่าง
"ข้อ 5 อื่นๆ การแก้ไขข้อผิดพลาดทางบัญชี เนื่องจากในระหว่างปี 2558 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดว่าด้วยการยกเว้น และสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ.2558 ให้สิทธิแก่ห้างหุ้นส่วนในการได้รับยกเว้นการตรวจสอบภาษีอากร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น ห้างฯ จึงได้ทบทวนข้อมูลทางบัญชีเพิ่มเติม และพบข้อผิดพลาดจากการบันทึกบัญชี โดยห้างฯ ได้แก้ไขขัอผิดพลาดดังกล่าวโดยแสดงไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน"