ผู้ประกอบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและบริการโดยผ่านคอมพิวเตอร์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคมหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วัตถุประสงค์การทำเว็บไซต์ ของผู้ประกอบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการทำการค้านั้น ถือว่าเป็นวิธีที่ได้ผลอย่างคุ้มค่ามาก ทั้งนี้เพราะ อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่เข้าถึงคู่ค้าได้ผลอย่างคุ้มค่ามาก ทำให้การนำเสนอขายสินค้าเป็นไป อย่างง่ายได้ รวมทั้งประหยัดต้นทุน ในการสื่อสารด้วย การดำเนินการดังกล่าว ผู้ทำการค้าสามารถทำได้หลายวิธี โดยแต่ละวิธีก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป ดังนี้ 1. สร้างเว็บไซต์เพื่อการประชาสัมพันธ์องค์กร เป็นการประชาสัมพันธ์หรือประกาศให้บุคคลทั่วไปทราบว่าบริษัท ทำอะไร ขายอะไรในภาพรวม
แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดทั้งหมด ใครอยากได้ข้อมูลก็ให้ติดต่อมาอีกครั้งหนึ่ง
2. สร้างเว็บไซต์เพื่อแสดงสินค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น
- สร้างเว็บไซต์เพื่อทดแทนแคตตาล็อค เป็นการลงลึกในการให้รายละเอียดเช่นเดียวกับ การจัดพิมพ์แคตตาล็อค เป็นวิธีที่ประหยัด
เพราะการสร้างเว็บเพจ ลงทุนน้อยกว่าการพิมพ์ และการจัดส่งแคตตาล็อค ก็สามารถทำได้ทั่วโลก
- สร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นโชว์รูม เป็นการโชว์สินค้าหลักและสินค้าใหม่บางส่วน ไม่ต้องการแสดงสินค้าทุกรายการทั้งนี้เพื่อเป็นการดึงดูดใจลูกค้าในเบื้องต้น
- สร้างเว็บไซต์เพื่อใช้เป็นงานแสดงสินค้า เป็นการรวบรวมเว็บไซต์ หรือสินค้าประเภทเดียวกันมาจัดแสดงไว้ในเว็บไซต์เดียวกัน เพื่อวัตถุประสงค์ ทางการสนับสนุน
การขายหรือให้บริการ เช่น การรวบรวมเว็บไซต์ที่ขาย สินค้าโอทอป หรือรวบรวมรายชื่อโรงแรม ในประเทศไทยไว้ในเว็บไซต์เดียวกัน
3. สร้างเว็บไซต์เพื่อการค้า e-Commerce เป็นเว็บไซต์ที่แสดงในส่วนของแคตตาล็อค หรือรายการสินค้าไว้พร้อมกับระบบที่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรง
4. สร้างเว็บไซต์เพื่อเป็น e-Marketplace / e-Marketexchange เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางการซื้อ-ขาย หรือนำเข้า-ส่งออก มาเจอกัน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้คอย ให้บริการ
เช่นระบบการจ่ายเงิน ระบบการขนส่งสินค้า
5. สร้างเว็บไซต์เป็นเครือข่ายการจำหน่ายของตนเอง เป็นเว็บไซต์ที่ให้เฉพาะผู้จำหน่ายที่เป็นตัวแทนในเครือข่ายของตนเองเข้ามาใช้งาน เพื่อการเลือกซื้อสินค้า เสนอสินค้าใหม่
6. สร้างเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางการขาย เป็นการสร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการขาย
ประเภทของการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในการทำการค้าต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 2 ฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายมีหลายรูปแบบทำให้เราสามารถจัดประเภทของพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์ ออกเป็นประเภทหลักๆ ดังนี้
1. B2C (Business to Customer) คือ การค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้าหรือผู้บริโภค เช่น เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ เน้นการขายหนังสือออนไลน์ หรือสื่อมัลติมีเดียทางการศึกษา โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นเด็ก นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป โดยการสั่งซื้อสินค้าจะทำผ่านระบบตะกร้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงิน มีทางเลือกให้ลูกค้าเช่น โอนผ่านธนาคาร บัตรเครดิต ไปรษณีย์ธนาณัติ ในส่วนของการจัดส่งผ่านทางไปรษณีย์ หรือสามารถส่งแบบ Delivery ได้ด้วย เช่นร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ การขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
2. B2B (Business to Business) คือ การค้าระหว่างผู้ค้ากับหน่วยธุรกิจเช่นกัน แต่เป็นผู้ประกอบการ ครอบคลุมถึงการขายส่ง การทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain Management) หรือเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการซื้อสินค้า/ บริการ กับผู้ให้บริการธุรกิจ รถเช่า ดำน้ำ สปาร์ กอล์ฟ สวนสนุก เป็นต้น
3. C2C (Customer to Customer) เป็นการติดต่อระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค เช่น การติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารในกลุ่มคนที่มีการบริโภค หรือบุคคลทั่วไปอาจจะทำการแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสอง โดยสินค้าที่นำมาเสนอขายได้นั้นครอบคลุมตั้งแต่บ้านราคาหลายสิบล้านไปจนถึงหนังสือราคาไม่กี่บาท เป็นต้น
4. B2G (Business to Government) คือ การประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ ที่ใช้กันมาก คือ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เรียกว่า e-Government Prcurement ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่รัฐบาลทำการซื้อหรือจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การประกาศจัดจ้างของภาครัฐ หรือการใช้ระบบ EDI ในพิธีการศุลกากรของกรมศุลกากร เป็นต้น
5. G2C (Government to Customer) การบริการของภาครัฐสู่ประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่นการเสียภาษีผ่านอินเตอร์เน็ต การให้บริการบริการข้อมูลสู่ประชาชนผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
|