ประกาศกระทรวงการคลัง
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 3)
เรื่อง กำหนดหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ที่รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งออกตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 271) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2537
ข้อ 2 หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายค่าจ้าง จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5
ข้อ 3 หน่วยงานของรัฐและเอกชนตามข้อ 2 จะต้องมีฐานะเป็น
(ก) กระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล และกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้นและหมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย
(ข) บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล นิติบุคคลอื่น หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ เฉพาะที่ประกอบกิจการรับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย
ในกรณีผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตาม (ข) ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ประกอบกิจการรับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีโดยมีการประกอบกิจการอื่นรวมอยู่ด้วย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้นำกำไรสุทธิ และขาดทุนสุทธิของทั้งสองกิจการมารวมเข้าด้วยกัน
ข้อ 4 การวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน ตามข้อ 2 จะต้องมีลักษณะเป็นการวิจัยและพัฒนา ดังต่อไปนี้
(ก) การวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งหมายถึง การวิจัยตามแบบแผน หรือการค้นคว้าอย่างจริงจัง โดยมุ่งที่จะค้นพบความรู้ใหม่ และมีความมุ่งหวังว่าความรู้ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีในการผลิต หรือการให้บริการ หรือโดยมุ่งที่จะนำความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดมาสู่ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีในการผลิต หรือการให้บริการที่มีอยู่เดิม หรือ
(ข) การวิจัยเชิงประยุกต์ ซึ่งหมายถึงการนำผลการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานมาใช้เป็นแบบแผน แบบพิมพ์เขียว หรือแบบแปลนสำหรับผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี หรือการให้การบริการซึ่งทำขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเพื่อขายหรือใช้เอง และรวมถึงการประดิษฐ์ต้นแบบครั้งแรก ซึ่งไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ นอกจากนั้น การวิจัยเชิงประยุกต์ยังรวมถึงการคิดค้นสูตร (Conceptual formulation) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี หรือการให้บริการในรูปต่าง ๆ และการสาธิตเบื้องต้น หรือโครงการนำร่อง โดยมีเงื่อนไขว่าโครงการดังกล่าวไม่สามารถที่จะถูกดัดแปลง หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการอุตสาหกรรมหรือการพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม การวิจัยเชิงประยุกต์ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงตามปกติหรือตามระยะเวลาของผลิตภัณฑ์ ระบบการผลิต กรรมวิธีการผลิต การให้บริการหรือกิจการอื่น ๆ ที่กำลังดำเนินงาน แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ จะทำให้มีความก้าวหน้าก็ตาม
ข้อ 5 กรณีที่หน่วยงานของรัฐตามข้อ 3(ก) เป็นผู้รับทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ให้ระบุไว้ในสัญญาและในใบรับเงินว่า เป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4
ข้อ 6 หน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่ประสงค์จะรับทำการวิจัย และพัฒนาตามข้อ 2 ต้องยื่นคำขอต่อกรมสรรพากรเพื่อพิจารณาเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กรณีหน่วยงานของรัฐและเอกชนตามวรรคหนึ่งที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรับทำการวิจัยและพัฒนาให้กับบุคคลใด ให้ปฏิบัติในการออกใบรับตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
(ก) กรณีรับทำการวิจัยและพัฒนาให้กับบุคคลอื่น ให้ออกใบรับในนามของหน่วยงานที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น โดยให้แยกใบรับสำหรับรายได้จากกิจการดังกล่าวต่างหากจากรายได้จากกิจการอื่น
(ข) กรณีทำการวิจัยและพัฒนาให้กับตนเอง ให้ออกใบรับให้กับตนเอง เสมือนเป็นการรับทำวิจัยและพัฒนาให้กับบุคคลอื่นตาม (ก)
(ดูประกาศกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ 4)
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เป็นต้นไป
( ดูประกาศกรมสรรพากร ลงวันที่ 5 กันยายน 2545 )
ประกาศ ณ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539
จาตุรนต์ ฉายแสง
รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(ร.จ.ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง วันที่ 21 มกราคม 2540)