เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/374
วันที่: 17 มกราคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามบัตรส่งเสริมการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
          บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตรถขุดตักตีนตะขาบเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการดังกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี พ.ศ. 2538 ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุนบัตรที่ 1 ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการผลิตรถขุดตีนตะขาบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ปัจจุบันสิทธิประโยชน์การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อมาบริษัทได้สร้างโรงงานสำหรับผลิตและประกอบรถขุดตักตีนตะขาบ อีกหนึ่งโรงงาน (โรงงานที่ 2) และบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการประเภทเดียวกันอีกตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนบัตรที่ 2 ซึ่งออกให้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายรถขุดตักตีนตะขาบ มีกำลังการผลิตปีละไม่เกิน 6,000 คัน ปัจจุบัน บริษัทฯ มีนโยบายการผลิต โดยจะใช้เครื่องจักรที่ลงทุนใหม่ภายใต้สิทธิและประโยชน์ที่ได้รับตามบัตรที่ 2 และติดตั้งในโรงงานที่ 2 เป็นเครื่องจักรหลักสำคัญในการผลิต และจำหน่ายรถขุดตักตีนตะขาบเป็นสินค้าสำเร็จรูปออกจากโรงงานที่ 2 ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการลงทุนตามบัตรที่ 2 ดังนั้น ขั้นตอนหลักในกระบวนการผลิตจนเป็นสินค้าสำเร็จรูปทั้งหมดจะทำอยู่ที่โรงงานที่ 2
          สำหรับโรงงานที่ 1 นั้น บริษัทฯ จะยกเลิกกระบวนการผลิตและประกอบเป็นสินค้าทั้งหมด คงเหลือแต่เฉพาะการเชื่อมชิ้นส่วน โลหะ (Welding Process) ซึ่งบริษัทฯ จะใช้เครื่องจักรของโรงงานที่ 1 เข้ามาเสริมและสนับสนุนในการผลิตของโรงงานที่ 2 เครื่องจักรใหม่ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนงานเชื่อมชิ้นส่วนโลหะภายใต้บัตรที่ 2 จะมีการนำเข้ามาภายใต้บัตรที่ 2 และติดตั้งอยู่ในโรงงานที่ 1 โดยมีการแยกพื้นที่เป็นสัดส่วนต่างหากจากเครื่องจักรของโรงงานที่ 1 เพื่อให้กระบวนการผลิตในขั้นตอนงานเชื่อมชิ้นส่วนโลหะ อยู่ภายใต้โรงงานแห่งเดียวกัน ทั้งนี้ โรงงานที่ 1 จะไม่มีการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป และไม่มีรายได้จากการจำหน่ายรถขุดตัก ตีนตะขาบอีกต่อไป แต่จะผลิตเฉพาะชิ้นส่วนบางชิ้นแทนรวมทั้งการปรับแต่งชิ้นส่วนพิเศษบางชนิดเพื่อป้อนการผลิตของโรงงานที่ 2 สำหรับการประกอบเป็นรถขุดตักตีนตะขาบสำเร็จรูปในโรงงานที่ 2 รายได้จากการจำหน่ายรถขุดตักตีนตะขาบของบริษัทฯ ซึ่งผลิตภายใต้โรงงานที่ 2 จะถูกบันทึกเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของโรงงานที่ 2 ตามบัตรที่ 2 และการผลิตชิ้นส่วนของโรงงานที่ 1 นั้น เป็นการโอนชิ้นส่วนซึ่งผลิตโดยโรงงานที่ 1 ไปยังโรงงานที่ 2 ซึ่งจะไม่มีการคิดราคาชิ้นส่วนกันแต่อย่างใด
          สำนักงานจึงขอทราบว่า
          1. โรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 ต่างเป็นโรงงานของนิติบุคคลเดียวกัน ดังนั้น การนำชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงานที่ 1 รวมทั้งการปรับแต่งชิ้นส่วนพิเศษบางชนิดไปใช้เป็นชิ้นส่วนประกอบตัวหนึ่งสำหรับการผลิตสินค้าสำเร็จรูปของโรงงานที่ 2 จึงไม่ใช่การจำหน่ายที่จะต้องมีการคิดราคาระหว่างกัน การที่บริษัทฯ ยังใช้เครื่องจักรในโรงงานที่ 1 ย่อมไม่ถือว่าโรงงานที่ 1 ภายใต้บัตร ส่งเสริมการลงทุนบัตรที่ 1 มีเงินได้จากการโอนชิ้นส่วน หรือค่าตอบแทนในการให้ใช้เครื่องจักรที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช่หรือไม่ และการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องคิดต้นทุนของชิ้นส่วนและเครื่องจักรที่ใช้ของโรงงานที่ 1 รวมเข้ามาเป็นต้นทุนของโรงงานที่ 2 ทั้งหมดเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิของโรงงานที่ 2 ตามบัตรที่ 2 ถูกต้องหรือไม่
          2. การจำหน่ายรถขุดตักตีนตะขาบที่ผลิตในโรงงานที่ 2 นั้น ถือเป็นเงินได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมตามบัตรที่ 2 ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณ กำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นำกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมเข้าด้วยกัน การโอนชิ้นส่วนระหว่างโรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายหรือการโอนทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร และการให้โรงงานที่ 2 ใช้เครื่องจักรในโรงงานที่ 1 ไม่ถือว่าโรงงานที่ 1 มีรายได้จากการโอนทรัพย์สินและการให้ใช้เครื่องจักรดังกล่าวให้แก่โรงงานที่ 2 เนื่องจากทั้งสองโรงงานเป็นกิจการของนิติบุคคลเดียวกัน
          2. กรณีการจำหน่ายรถขุดตักตีนตะขาบที่ผลิตในโรงงานที่ 2 หากเป็นเงินได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการประกอบกิจการที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและประโยชน์ตามที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรที่ 2 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีกำหนดเวลา 7 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น
เลขตู้: 71/35570

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020