เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./625
วันที่: 28 มกราคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการนำเที่ยว
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. กรณีเป็นตัวแทนขายตั๋วโดยสารเครื่องบิน และที่พัก เมื่อตัวแทนขายตั๋วโดยสารเครื่องบินและที่พัก จะได้รับค่านายหน้าจากสายการบินตามอัตราของสายการบิน และผู้ประกอบการมีรายได้ ดังนี้
               1.1 รายได้จากการขายตั๋วโดยสารเครื่องบินอย่างเดียว
               1.2 รายได้จากการขายตั๋วโดยสารเครื่องบิน และที่พัก
                   (ก) แยกตั๋วโดยสารเครื่องบิน และที่พักออกจากกัน ตั๋วโดยสารเครื่องบินคิดราคาจากลูกค้าในราคาปกติที่ลูกค้าซื้อจากผู้ประกอบการ ส่วนที่พักคิดเป็นราคาต่อหัว
                   (ข) แยกตั๋วโดยสารเครื่องบิน ที่พัก และบริการนำเที่ยวออกจากกันตั๋วโดยสารเครื่องบินเหมือน (ก) ที่พักจองในนามลูกค้า และได้รับใบเสร็จรับเงินจากโรงแรมในนามลูกค้า ค่าบริการนำเที่ยวคิดเป็นราคาต่อหัว ไม่รวมตั๋วโดยสารเครื่องบินและที่พัก
                   (ค) ค่านำเที่ยวเป็นรายหัว ไม่แยกตั๋วโดยสารเครื่องบิน ที่พัก และบริการออกจากกัน
          2. กรณีจัดนำเที่ยว ผู้ประกอบการมีรายได้ ดังนี้
               2.1 แยกตั๋วโดยสารเครื่องบิน และบริการนำเที่ยวออกจากกัน ตั๋วโดยสารเครื่องบินคิดราคาในราคาปกติ ที่ลูกค้าซื้อเอง และบริการนำเที่ยวคิดเป็นราคาต่อหัว ไม่รวมตั๋วโดยสารเครื่องบินผู้ประกอบการจองและซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่ลูกค้า และเรียกเก็บเงินตามราคาตั๋วโดยสารเครื่องบิน
               2.2 แยกตั๋วโดยสารเครื่องบิน ที่พัก และบริการนำเที่ยวออกจากกันตั๋วโดยสารเครื่องบินเหมือนข้อ 2.1 ที่พักจองในนามลูกค้า และได้รับใบเสร็จรับเงินจากโรงแรมในนามลูกค้าบริการนำเที่ยวคิดเป็นราคาต่อหัว ไม่รวมตั๋วโดยสารเครื่องบินและที่พัก ผู้ประกอบการจองและซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน และที่พักให้แก่ลูกค้า และเรียกเก็บเงินตามราคาตั๋วโดยสารเครื่องบิน และราคาที่พัก ใบเสร็จรับเงินออกในนามลูกค้า
               2.3 ค่านำเที่ยวเป็นรายหัว ไม่แยกตั๋วโดยสารเครื่องบิน ที่พัก และบริการนำเที่ยวออกจากกัน
          3. กรณีประกาศในสื่อโฆษณา หรือในรายการทัวร์ เกี่ยวกับราคาทัวร์หรือเดินทางเป็นการเหมา โดยไม่ได้แยกชัดแจ้งค่าเดินทาง เป็นค่าตั๋วโดยสาร ค่าทัวร์ และค่าบริการเป็นเท่าไรแต่จะแยกในช่วงชำระเงิน เป็น 3 กรณี ดังนี้
               3.1 แยกตั๋วโดยสาร
               3.2 แยกค่าทัวร์ และบริการนำเที่ยว
               3.3 (ก) แยกตั๋วโดยสาร
                   (ข) แยกค่าทัวร์ ได้แก่ โรงแรม รถ ขนส่ง อาหาร ในต่างประทศ และต่างประเทศออกใบเสร็จรับเงินให้โดยตรง
                   (ค) แยกค่าบริการนำเที่ยวบวกกำไร
แนววินิจฉัย          ภาระภาษีสำหรับการประกอบธุรกิจนำเที่ยว ในกรณีผู้ประกอบการคิดค่าบริการนำเที่ยวเป็นการเหมา และมิได้คิดค่าบริการนำเที่ยวเป็นการเหมา แยกพิจารณาได้ ดังนี้
          1. ตามข้อ 1 การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเป็นตัวแทนให้บริการธุรกิจนำเที่ยว กรมสรรพากรได้วางแนวปฏิบัติไว้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 21)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ประกาศอธิบดี กรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535
          2. ตามข้อ 2 และข้อ 3 การประกอบกิจการนำเที่ยวเป็นการเหมา และมิได้คิดค่าบริการเป็นการเหมา โดยรับบริการนำนักท่องเที่ยวเดินทางไป ท่องเที่ยวยังต่างประเทศ หรือจัดบริการนำนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่ว่าการบริการจัดนำเที่ยวนั้น จะได้จัดเป็นหมู่คณะหรือเป็นเอกเทศการจัดนำเที่ยวดังกล่าวถือเป็น การให้บริการในราชอาณาจักร ผู้ประกอบการนำเที่ยวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในการพิจารณาว่าผู้ประกอบการที่รับจัดนำเที่ยวได้คิดค่าบริการนำเที่ยวเป็นการเหมาหรือไม่ ให้พิจารณาสัญญาเป็นสาระสำคัญ กรณีผู้ประกอบการคิดค่าตอบแทนจากการจัดนำเที่ยวแต่ละครั้ง ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายทั้งส่วนที่แจกแจงรายละเอียดให้ลูกค้าทราบ และส่วนที่คิดค่าบริการเป็นการเหมาหากผู้ประกอบการมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ค่าตอบแทนส่วนใดที่ผู้ประกอบการมีการแจกแจงค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าทราบ โดยแยกรายละเอียดค่าใช้จ่ายชัดแจ้ง ซึ่งผู้ประกอบการอาจเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายแต่ละรายการจากลูกค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนเฉพาะเท่ากับที่จะต้องจ่ายจริง หรืออาจทดรองจ่ายเงินค่าใช้จ่ายนั้นไปก่อนแล้ว จึงเรียกเก็บคืนจากลูกค้าเป็นจำนวนเท่ากับที่ต้องจ่ายไปจริง เช่น ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินที่เรียกเก็บจากลูกค้าเท่ากับที่ต้องจ่ายจริง โดยให้ผู้ประกอบการขายตั๋วโดยสารเครื่องบินออกหลักฐานใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีเป็นชื่อของลูกค้า และผู้ประกอบการได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ซึ่งผู้ประกอบการเรียกเก็บล่วงหน้า หรือเรียกเก็บคืนจากลูกค้าเท่ากับจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง จึงไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
          สำหรับค่าบริการส่วนอื่นที่มีลักษณะเป็นการเหมา ซึ่งไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดให้ลูกค้าทราบได้ว่า เป็นค่าอะไร จำนวนเท่าใด และไม่มีหลักฐานการจ่ายมาแสดงค่าบริการส่วนอื่นดังกล่าวที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจาก ลูกค้าต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35605

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020