เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706(กม.05)/287
วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขนส่งสินค้าทางทะเล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัท ก. ประกอบกิจการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงงานเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงปูนซีเมนต์ รวมทั้งอุปกรณ์สายพานลำเลียงทุกชนิด บริษัทฯ รับจ้างผลิต esp casting, jet ejector venturi, structural steel ให้กับบริษัท A บริษัท B และบริษัท C โดยบริษัททั้งสามดังกล่าว ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
          2. บริษัทฯ ผลิตชิ้นงานต่าง ๆ ในประเทศไทย และส่งชิ้นงานที่สมบูรณ์ไปให้ลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาทางเรือ โดยบริษัทฯ ว่าจ้างให้บริษัท T ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ดำเนินการ ตามข้อเท็จจริง การให้บริการระหว่างบริษัท T และบริษัทฯ สรุปดังนี้
               2.1 เมื่อบริษัทฯ จะส่งชิ้นงานให้กับลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ จะแจ้งกำหนดเวลาไปยัง บริษัท T เพื่อให้เข้ามารับชิ้นงานในประเทศไทย หรือบางกรณีบริษัท T จะแจ้งมายังบริษัทฯ ล่วงหน้าประมาณ 10-15 วัน ว่าเรือของ บริษัท T จะเข้ามาในประเทศไทยเพื่อรับขนส่งชิ้นงานให้กับลูกค้ารายอื่นของบริษัท T ในประเทศไทย กรณีดังกล่าว หาก บริษัทฯ มีความประสงค์จะส่งสินค้า บริษัทฯ ก็สามารถให้บริษัท T รับชิ้นงานเพื่อขนส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่เรือเข้าเทียบท่า จะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเดินเรือที่บริษัท T เช่ามาเพื่อทำการขนส่ง เข้ามาพร้อมกับ เรือเพื่อทำการขนส่งชิ้นงานด้วย
               2.2 บริษัทฯ มีหน้าที่ขนชิ้นงานจากโรงงานของบริษัทฯ ไปยังท่าเรือ (ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด หรือ ศรีราชาฮาเบอร์ แล้วแต่กรณี) โดยนำชิ้นงานทั้งหมดผ่านพิธีการศุลกากร และส่งมอบชิ้นงานให้กับบริษัท T ตามเงื่อนไข FOB
               2.4 บริษัท T จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง (Bill of Lading) ให้กับบริษัทฯ และจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหาย หรือล่าช้าในการขนส่งชิ้นงานของบริษัทฯ
แนววินิจฉัย          เนื่องจากการให้บริการรับขนสินค้าของบริษัท T ให้กับลูกค้า เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยบริษัท T เป็นผู้ออก ใบตราส่งให้กับลูกค้า และต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือล่าช้าของสินค้า เข้าลักษณะเป็นผู้ขนส่งตามมาตรา 608 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ ตามคำนิยามของคำว่า "การจราจร ระหว่างประเทศ" ที่กำหนดไว้ในข้อ 3(1)(ง) แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ดังนั้น หาก บริษัท T มี ถิ่นที่อยู่ในทางภาษีอากรในประเทศสหรัฐอเมริกา และไม่ถูกจำกัดสิทธิประโยชน์ในการใช้อนุสัญญาตามข้อ 18 แห่งอนุสัญญาฯ บริษัท T มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร โดยได้รับการลดอัตราภาษี ตามข้อ 8 วรรคสอง (ก) แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505ิ
เลขตู้: 71/35630

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020