เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/916
วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (6) และมาตรา 77/1(18)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ เป็นตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากรในการนำเข้าสินค้าให้บริษัท A ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าในปี 2549 บริษัทฯ ได้ทำใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มผิดไป ซึ่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจพบในปี 2550 จึงได้ประเมินภาษีอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราที่ถูกต้อง รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการชำระ แล้ว บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
          1. บริษัท A มีสิทธินำค่าอากรและค่าปรับอากรที่ชำระเพิ่มในปี 2550 มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในปี 2550 ได้หรือไม่
          2. บริษัท A มีสิทธินำค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ชำระเพิ่ม (ไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม) มาถือเป็นภาษีซื้อในเดือนที่ชำระ ภาษีตามการประเมิน แต่ไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ออกใบกำกับภาษี ใช่หรือไม่
แนววินิจฉัย          บริษัท A มีฐานะเป็นตัวการในการนำเข้า และต้องรับผิดต่อกรมศุลกากรโดยตรงทั้งในทางแพ่งและทางอาญา โดย กรมศุลกากรได้พิจารณาให้บริษัท A ในฐานะตัวการผู้นำเข้าตามกฎหมาย ต้องชำระหนี้ภาษีอากรที่เกิดจากการนำเข้าทั้งหมด ตามมาตรา 27 และมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2549 และตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) ดังนั้น การจ่ายเงินดังกล่าว จึงพิจารณาได้ดังนี้
          1. กรณีค่าอากรและค่าปรับอากรที่ชำระเพิ่มในปี 2550 บริษัท A มีสิทธินำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เนื่องจากเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัท A ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีค่าภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ชำระเพิ่ม (ไม่รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม) ที่บริษัท A ชำระให้กับกรมศุลกากร เข้า ลักษณะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท A ซึ่งเป็นผู้นำเข้าได้เสียไปจากการนำเข้าสินค้า ถือเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A จึงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว มาถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีที่ชำระภาษีตามการประเมิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/3 วรรคสี่ มาตรา 84 และมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35629

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020