เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./36
วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78(4) มาตรา 79/1(1) มาตรา 80/1 มาตรา 77/1(13)(14)(19) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ ซึ่งประกอบกิจการผลิตและส่งออก Icing, Mazipan มีลักษณะเป็นตัวการ์ตูน สำหรับแต่งหน้าเค้ก ที่ผลิตจากน้ำตาลไอซิ่ง บริษัทฯ ได้ออก Tax Invoice เลขที่ 003 ลงวันที่ 18 มกราคม 2550 ให้แก่ Vipam Bv. ระบุ จำนวนสินค้า 2,775 กล่อง มูลค่าสินค้าจำนวน 9,256.81 ยูโร โดยอ้างอิงใบขนสินค้า ต่อมาบริษัทฯ ได้ออก Tax Invoice เลขที่ 005 ลงวันที่ 31 มกราคม 2550 ให้แก่ Vipam Bv. อีกครั้ง โดยไม่ได้ระบุจำนวนสินค้า แต่ระบุมูลค่าสินค้า จำนวน 9,256.81 ยูโร และระบุในช่องรายการว่า "Processing Cost Invoice 003"
          เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัทฯ ได้ออก invoice เลขที่ 011 ให้แก่ Vipam Bv. ระบุจำนวนสินค้า 785 กล่อง มูลค่าสินค้าจำนวน 4,030.88 ยูโร โดยอ้างอิงใบขนสินค้า และบริษัทฯ ได้ออก Invoice เลขที่ 013 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2550 ให้แก่ Vipam Bv. อีกครั้ง โดยไม่ได้ระบุจำนวนสินค้า แต่ระบุมูลค่าสินค้าจำนวน 4,030.88 ยูโร และระบุใน ช่องรายการว่า "Processing Cost Invoice 011" ซึ่งบริษัทฯ ได้ออกเอกสารในลักษณะดังกล่าวตลอดมา โดยชี้แจงว่า การออก Invoice ดังกล่าว เพื่อเรียกเก็บเงินส่วนที่เหลือจากมูลค่าสินค้าตามใบขนสินค้าขาออก เนื่องจาก ลูกค้าใน ต่างประเทศต้องการลดภาษีนำเข้า และบริษัทฯ ไม่สามารถพิสูจน์จำนวนเงินที่ได้รับจากลูกค้าว่าเป็นการส่งออกรายการใด เพราะการโอนเงินล่วงหน้าและจำนวนเงินที่โอนไม่ตรงกับ Invoice แต่อย่างใด
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ส่งสินค้าออกต่างประเทศตามคำสั่งซื้อของลูกค้าในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการ ยื่นใบขนสินค้าขาออกผ่านพิธีการศุลกากรในนามบริษัทฯ ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร เพื่อส่งไปต่างประเทศ ถือว่า บริษัทฯ เป็นผู้ส่งออกและได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 77/1(13) (14) และมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.97/2543ฯ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2543 เนื่องจาก บริษัทฯ ไม่ต้องชำระอากรขาออก ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ มูลค่าของสินค้าส่งออก โดยให้ใช้ราคา เอฟ.โอ.บี.ของสินค้าบวกด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นที่ได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
          2. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนขายสินค้าหรือให้บริการ โดยการส่งออก ตามมาตรา 86/5(1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ใบกำกับภาษีมีรายการเช่นเดียวกับใบกำกับสินค้า ซึ่งผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่าง ประเทศ ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 21)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เลขตู้: 71/35643

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020