เลขที่หนังสือ | : กค 0702/843 |
วันที่ | : 18 มีนาคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผู้เช่าออกค่าภาษีโรงเรือนแทนผู้ให้เช่า |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าพื้นที่และให้บริการในอาคารศูนย์การค้าราชประสงค์ บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่า ให้ผู้เช่าบางรายชำระค่าภาษีโรงเรือน โดยบริษัทฯ ได้ชำระภาษีโรงเรือนทั้งหมด และเรียกเก็บจากผู้เช่าตามจำนวน ที่ระบุในสัญญา ซึ่งบริษัทฯ ได้นำค่าภาษีโรงเรือนที่ชำระให้สำนักงานเขตมาเป็นรายจ่าย และนำค่าภาษีโรงเรือนที่ เรียกเก็บจากผู้เช่ามาเป็นรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงหารือว่า 1. กรณีบริษัทฯ เรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนจากผู้เช่า และนำมาถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิแล้ว การที่บริษัทฯ นำค่าภาษีโรงเรือนที่ได้เสียไปนั้น มาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ถือว่าบริษัทฯ ได้นำค่าภาษี โรงเรือนมาเป็นประโยชน์เพิ่ม ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ 2. รายจ่ายค่าภาษีโรงเรือนที่บริษัทฯ ได้ชำระไป และเรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนจากผู้เช่า บริษัทฯ สามารถ นำค่าภาษีโรงเรือนมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ | แนววินิจฉัย | 1. บริษัทฯ มีเงินได้จากการให้เช่าพื้นที่ในอาคารศูนย์การค้า บริษัทฯ จึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนจากเงินได้ดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อปรากฏว่า บริษัทฯ เรียกเก็บค่าภาษีโรงเรือนดังกล่าวจากผู้เช่าตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ค่าภาษีโรงเรือนที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากผู้เช่า จึงเข้าลักษณะเป็นเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องนำค่าภาษีโรงเรือนดังกล่าวไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตาม มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าภาษีโรงเรือน หากบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้จ่าย และเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 71/35718 |