เลขที่หนังสือ | : กค 0702/932 |
วันที่ | : 21 มีนาคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีธุรกรรมการซื้อขายตราสารหนี้สำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดา |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 48(3) และมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | การทำธุรกรรมซื้อขายหรือลงทุนในตราสารหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน ตลาดตราสารหนี้ จึงขอหารือเรื่องภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของผู้ลงทุน ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ประเด็นดังต่อไปนี้ 1. การซื้อขายตั๋วเงินคลัง หรือตราสารหนี้ที่มีราคาขายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน (ตั๋วเงิน หรือตราสารที่ผู้ออกตั๋วเงินหรือตราสารเป็นผู้ขายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้ในตราสาร (มูลค่าที่ตราไว้) หรือที่เรียกว่า ตั๋วส่วนลด) 1.1 กรณีผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อ ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดารายแรกที่ซื้อตั๋วส่วนลด ไม่ว่าจะซื้อจากผู้ออกตั๋วส่วนลด หรือซื้อจากนิติบุคคลใด ๆ ก็ตาม จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 จากผู้ขาย ทั้งนี้ ตามมาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร (ก) บุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อจากผู้ออกตั๋วส่วนลด จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายบนส่วนต่างระหว่าง ราคาที่ระบุไว้ในตราสารกับราคาที่ซื้อ (ราคาขายครั้งแรก) (ข) บุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อต่อจากนิติบุคคลใด ๆ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายบนส่วนต่างระหว่าง ราคาที่ระบุไว้ในตราสาร กับราคาที่ซื้อ (ไม่ใช่ราคาขายครั้งแรก) 1.2 กรณีผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายตั๋วส่วนลดในทอดต่อ ๆ ไป ภายหลังจาก ที่ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตั๋วส่วนลดตาม 1.1 แล้ว ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อหรือขายตั๋วส่วนลดในทอด ต่อ ๆ ไป จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายใด ๆ อีก แม้ว่าจะมีส่วนลดหรือกำไร (Capital gain) ที่เกิดขึ้นจากการขาย ตั๋วส่วนลดดังกล่าวนั้น 2. การซื้อขายพันธบัตรภาครัฐ หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่เป็นตราสารหนี้ที่มีราคาขายครั้งแรกมากกว่าหรือเท่ากับราคาที่ระบุไว้ในตราสาร (ตราสารหนี้ที่ภาคเอกชนเป็นผู้ออกตราสาร และขายครั้งแรกในราคาเท่ากับราคา ที่ระบุไว้ในตราสาร) โดยผู้ถือตราสารจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย หรือผลต่างจากราคาซื้อขายตราสาร (Capital gain) 2.1 กรณีผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อตราสารหนี้จากนิติบุคคลที่มิใช่ผู้ออกตราสาร หาก ราคาซื้อมีมูลค่าต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้ในตราสาร ผู้ขายไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย บนส่วนต่างของราคาซื้อ และราคาที่ระบุไว้ในตราสาร เนื่องจากกรณีดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นกำไรจากการขายตราสาร (Capital gain) 2.2 กรณีผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ขายตราสารหนี้ซึ่งซื้อมาจากนิติบุคคลที่มิใช่ผู้ออกตราสาร หากราคาขายสูงกว่าราคาต้นทุนหรือราคาที่ซื้อมา ผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 บนกำไร ที่เกิดขึ้น (Capital gain) ของผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวล รัษฎากร | แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 1.1 ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อจากผู้ออกตั๋วส่วนลด หรือเป็นผู้ซื้อต่อจาก นิติบุคคลใดๆ จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของผลต่างระหว่างมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) กับ ราคาจำหน่าย (Price Value) ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(3)(ข) และมาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 1.2 ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายตั๋วส่วนลดในทอดต่อ ๆ ไป ภายหลัง จากที่ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตั๋วส่วนลด ตามมาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้ประทับตรา ว่าได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้บนตราสารแล้ว ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ซื้อหรือขายตั๋วส่วนลดในทอดต่อ ๆ ไป จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ใด ๆ อีก เนื่องจากส่วนลดหรือกำไร (Capital gain) เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตาม มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(30)(ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 3. กรณีตาม 2.1 ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ตามข้อเท็จจริง หากราคาซื้อมี มูลค่าต่ำกว่าราคาที่ระบุไว้ในตราสาร ผู้ขายไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากผลต่างระหว่างมูลค่าที่ตราไว้กับ ราคาจำหน่ายไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่ระบุไว้ในมาตรา 48(3)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งให้คำนวณ หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด 4. กรณีตาม 2.2 ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นผู้ขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ตามข้อเท็จจริง หากราคาขายสูงกว่า ราคาต้นทุนหรือราคาที่ซื้อมา ผู้ซื้อพันธบัตรมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้จากการโอนพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ตามมาตรา 48(3)(ค) และมาตรา 50(2)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 71/35738 |