เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/373
วันที่: 4 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 มาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สมาคม ข. หารือเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล โดยมีรายละเอียดสรุปความได้ดังนี้
          1. ความหมายและประเภทของกองทุนส่วนบุคคล
               กองทุนส่วนบุคคลเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่จัดการเงินทุนของบุคคลหรือคณะบุคคล (หมายความรวมถึงนิติบุคคล) ที่ให้จัดการลงทุน เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ จากหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะมีการลงทุนในทรัพย์สินอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำเป็นทางการค้าปกติ โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนอื่น กองทุนส่วนบุคคลจึงมีสถานภาพเป็นไปตามสถานภาพของบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน กล่าวคือ หากเจ้าของทรัพย์สินเป็นบุคคลธรรมดา กองทุนส่วนบุคคลจะมีสถานภาพเป็นบุคคลธรรมดา แต่หากเจ้าของทรัพย์สิน เป็นนิติบุคคล กองทุนส่วนบุคคลก็จะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล
          2. การจัดการกองทุนส่วนบุคคล
               ในการจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลนั้น บุคคลหรือคณะบุคคลผู้เป็นเจ้าของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นต้องทำสัญญา มอบหมายให้บริษัทจัดการ ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนส่วน บุคคลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ทำการแทน เป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งการลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลนั้น เจ้าของหลักทรัพย์หรือเจ้าของทรัพย์สินยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าว และเจ้าของหลักทรัพย์ หรือเจ้าของทรัพย์สินสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนร่วมกับบริษัทจัดการได้ โดยบริษัทจัดการจะลงทุนในหลักทรัพย์หรือ ทรัพย์สินใดๆ ภายใต้กรอบและข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญากับลูกค้าเท่านั้น ดังนั้น บุคคลผู้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรง คือเจ้าของหลักทรัพย์หรือ เจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการต้องแยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของตน โดยนำไปฝากไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สินซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการหรือลูกค้าให้ทำหน้าที่ในการเก็บรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งรับมอบ ส่งมอบ ตรวจสอบความถูกต้อง ตรวจนับทรัพย์สิน ทำทะเบียนทรัพย์สิน ติดตามสิทธิประโยชน์จากการลงทุน และจัดทำรายงานให้บริษัทจัดการทราบ
          3. เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. กำลังพิจารณาอนุญาตให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล นำทรัพย์สินไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่เสนอขายในต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคลได้ โดยกองทุนส่วนบุคคล ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อคน และกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นนิติบุคคลไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์- สหรัฐอเมริกาต่อราย ดังนี้
               3.1 หลักทรัพย์ประเภทตราสารทุน
               3.2 หลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้
               3.3 หลักทรัพย์ประเภทหน่วยลงทุน
               3.4 หลักทรัพย์ประเภทตราสารอนุพันธ์และตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง
               3.5 หลักทรัพย์ประเภทเงินฝากและตราสารเทียบเท่าเงินสด
               3.6 หลักทรัพย์อื่นๆ
          4. การลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ข้างต้น จะก่อให้เกิดรายได้ ดังนี้
               4.1 เงินปันผล
               4.2 ดอกเบี้ยรับ
               4.3 กำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์
               4.4 ส่วนลดรับ
               4.5 กำไรที่เกิดจากการนำกำไรที่ได้รับไปลงทุนต่อ
               4.6 อื่นๆ เช่น กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรจากการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
          สมาคมฯ จึงขอทราบว่า กรณีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนำเงินไปลงทุนที่ต่างประเทศผ่านกองทุนส่วนบุคคล จะมีภาระภาษีอย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีบุคคลทำสัญญามอบหมายให้บริษัทซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนส่วนบุคคล นำหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นของผู้มอบหมาย ไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่ ต่างประเทศ ในฐานะเป็นผู้ทำการแทน บุคคลผู้มอบหมาย โดยผู้มอบหมายยังคงมีฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและเป็นผู้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว ดังนั้น ผลประโยชน์ที่กองทุนส่วนบุคคลจะได้รับจากการลงทุนในต่างประเทศ ย่อมเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีตาม กฎหมายของประเทศที่ได้เข้าไปลงทุน และอาจมีภาระภาษีในประเทศไทย ดังนี้
               1. กรณีผู้เป็นเจ้าของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเป็นบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลผู้อยู่ในประเทศไทยใน ปีภาษีที่ได้รับเงินได้ และนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกันกับที่ได้รับเงินได้ จะ ต้องนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
               2. กรณีผู้เป็นเจ้าของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เงินได้ ที่ได้รับถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร
               อย่างไรก็ดี หากบุคคลผู้มีเงินได้ตาม 1. และ 2. เป็นบุคคลตามอนุสัญญา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกัน การเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ ทางภาษีอากรแล้วแต่ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาดังกล่าว
เลขตู้: 71/35667

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020