เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/997
วันที่: 24 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอากรแสตมป์ กรณีขอคืนภาษีจากการซื้อบ้านใหม่ขายบ้านเก่า
ข้อกฎหมาย: ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ
ข้อหารือ          นาย ส.ขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ กรณีได้รับยกเว้นเงินได้ และอากรแสตมป์ จากการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมที่เคยใช้เป็นที่อยู่อาศัย และซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ตามข้อ 2(62) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และ มาตรา 6(37) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการขอคืนภาษี ปรากฏว่านาย ส. ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2 แห่ง โดย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแห่งเดิมที่ขายเกิน 1 ปี ทั้งสองแห่ง และระยะเวลาในการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมและซื้อ อสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่อยู่ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
          1. บ้านหลังแรก นาย ส. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2539 เป็นเวลา 5 ปีเศษ แล้วย้ายไปอยู่หลังที่สอง
          2. บ้านหลังที่สอง นาย ส. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2539 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2549 เป็นเวลา 9 ปีเศษ และได้ขายไปในราคา 2,200,000 บาท ราคาประเมิน 2,127,132 บาท เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2549 (ขายก่อนหลังแรก) แล้วย้ายกลับไปอยู่หลังแรก
          3. นาย ส. ย้ายกลับมาอยู่บ้านหลังแรกอีกครั้งโดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2550 เป็นเวลา 11 เดือน และได้ขายไปในราคา 700,000 บาท ราคาประเมิน 619,400 บาท เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2550
          4. นาย ส. ได้ซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ พร้อมบ้านตึกสองชั้น (บ้านหลังที่สาม) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ในราคา 3,350,000 บาท ราคาประเมิน 2,944,308 บาท เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2550 ถึงปัจจุบัน
          จึงหารือว่า นาย ส. มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ จากการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมได้ ทั้งสองแห่งหรือเพียงแห่งเดียว
แนววินิจฉัย          กรณีนาย ส. ได้ขายบ้านแห่งแรกพร้อมที่ดิน (บ้านหลังที่สอง) โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลา 9 ปีเศษ และ ขายบ้านแห่งที่สองพร้อมที่ดิน (บ้านหลังแรก) โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลา 5 ปีเศษ เข้าลักษณะเป็นการขายบ้าน พร้อมที่ดิน ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็น เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น และภายในกำหนดเวลา หนึ่งปีนับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมทั้งสองหลัง ผู้มีเงินได้ได้ทำสัญญาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินแห่งใหม่ (บ้านหลังที่สาม) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมทั้งสองหลัง เป็นเงินได้ที่ได้รับ ยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมที่ขาย แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่า ของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามข้อ 2(62) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 ส่วนอากรแสตมป์ ได้รับยกเว้นเท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่ คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิม แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ตามมาตรา 6(37) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 50) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับเงินได้จากการกระทำตราสารอันเนื่องมาจาก การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ดังนั้น นาย ส. จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้เสียไป จากการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และขอคืนอากรแสตมป์ได้
เลขตู้: 71/35742

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020