เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./556
วันที่: 10 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ก)(ท) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงแต่งรส และอาหารแห้ง เช่น กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง กระเทียม และพริกไทย เป็นต้น โดยซื้ออาหารสดและผักสด มาแปรรูปตามความต้องการของลูกค้า เช่น อบแห้ง หรือทำเป็นชิ้น หรือผงจำหน่ายโดยไม่มีการปรุงแต่งรสใดๆ แล้วนำมาบรรจุถุงน้ำหนักประมาณ 6 - 20 กิโลกรัม มัดด้วยเชือกหรือ ขมวดปากถุง บรรจุกล่องกระดาษ บริษัทฯ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายผลิตภัณฑ์อาหารปรุงรส แต่ไม่ได้ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับภาษี มูลค่าเพิ่มดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีการขายผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงแต่งด้วยการใส่สารปรุงรส หรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะ ทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อ ที่ผนึกในลักษณะมั่นคงหรือไม่ก็ตาม ไม่ได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีการขายกระเทียม และพริกไทย ที่ผ่านการอบแห้ง เข้าลักษณะเป็นการขายพืชผลทางการเกษตร ที่รักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีกหรือขายส่ง และการขายกุ้งแห้ง และปลาหมึกแห้ง โดยไม่ได้ปรุงแต่ง ด้วยการใส่สารปรุงรส หรือสารกันเสีย หรือสารอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน นำมาบรรจุถุงแล้วมัดด้วยเชือกหรือ ขมวดปากถุง บรรจุกล่องกระดาษ เข้าลักษณะเป็นสินค้าประเภทสัตว์ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ส่วนต่างๆ ของ สัตว์ โดยสภาพของสินค้ายังไม่ได้แปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ประกอบการขายสินค้าดังกล่าวในราชอาณาจักร จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ก) และ (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35681

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020