เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./623
วันที่: 12 มีนาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียน ประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ง) และมาตรา 81/3(1) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอาหารสัตว์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ ได้ไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ.01 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 ระบุประเภท ผลิต ขายส่งขายปลีก และให้บริการ คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี รายได้ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นรายได้ จากการขายอาหารสัตว์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ตั้งแต่เดือนภาษี มิถุนายน 2549 จนถึง ปัจจุบัน แสดงยอดขายที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษีจากการขายอาหารสัตว์ในอัตราร้อยละ 0 ไม่ได้ เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อ เหตุที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบุประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่มีเจตนาจะเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเข้าใจว่า ต้องกรอกรายละเอียดของกิจการทั้งหมดตามความเป็นจริง ในแบบ ภ.พ.01 และสำคัญผิดว่า ได้จัดทำแบบ ภ.พ.30 อย่างถูกต้องแล้ว คือ กรอกในช่องยอดขายที่ได้รับยกเว้น
          บริษัทฯ ได้ยื่นแบบคำร้องขอเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบ ภ.พ.09ขอลดประเภทกิจการที่ จดทะเบียนไว้เดิม ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการประกอบกิจการผลิต ขายส่ง และขายปลีกอาหารสัตว์ ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ วันที่ 6 มิถุนายน 2549 และชี้แจงว่า บริษัทฯ ขายอาหารสัตว์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจึงหารือว่า บริษัทฯ ต้องปฏิบัติอย่างไร ให้ถูกต้อง กรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มระบุ ประเภทกิจการโดยสำคัญผิด
แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2549 ระบุประเภทของการประกอบกิจการ คือ
          1. ผลิต 2. ขายส่ง 3. ขายปลีก 4. บริการ และประเภทของสินค้า คือ อาหารสัตว์ การประกอบกิจการขายอาหารสัตว์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีเพื่อขอจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3(1)แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มระบุประเภทของกิจการ คือ ผลิต ขายส่ง และขายปลีกอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในคำขอจดทะเบียน โดยสำคัญผิดว่า ต้องกรอกรายละเอียดของกิจการทั้งหมดตามความเป็นจริงในแบบ ภ.พ.01 และ ได้จัดทำแบบ ภ.พ.30 อย่างถูกต้องแล้ว คือ กรอกในช่องยอดขายที่ได้รับยกเว้น และบริษัทฯ ประสงค์จะขอลดประเภท กิจการผลิต ขายส่ง และขายปลีกอาหารสัตว์ ประกอบกับบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดขายที่ได้รับยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษีจากการขายอาหารสัตว์ในอัตราร้อยละ 0 เข้าลักษณะเป็นการจดทะเบียนโดยสำคัญผิด มิใช่ เป็นการใช้สิทธิแจ้งต่ออธิบดี เพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3(1) แห่ง ประมวลรัษฎากร กรณี ถือได้ว่า บริษัทฯ ได้แจ้งเพิ่มประเภทกิจการผลิต ขายส่ง และขายปลีกอาหารสัตว์ โดยสำคัญผิด ในข้อกฎหมาย ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในส่วนของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่มได้
          อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการผลิต ขายส่ง และขายปลีก อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว บริษัทฯ ก็จะประกอบกิจการทั้งประเภทต้องเสียภาษี มูลค่าเพิ่ม และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น ถ้าไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือ บริการเป็นภาษีซื้อจากกิจการใด ก็จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามประกาศอธิบดี กรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตาม มาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
เลขตู้: 71/35695

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020