เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./616 |
วันที่ | : 11 มีนาคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการของสถานพยาบาล |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานพยาบาล ประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้ 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการสถานพยาบาล ศ. ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล ในชื่อของบริษัทฯ ประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เพื่อให้บริการทางการแพทย์ด้านรังสีวิทยา การตรวจรักษา และวินิจฉัยโรค (การประกอบโรคศิลปะด้านวิชาชีพเวชกรรม) โดยการตรวจรักษาเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพคลื่นเสียงความถี่สูง และเอกซเรย์อื่นๆ ซึ่งในการตรวจรักษา และวินิจฉัยโรค จะมีแพทย์ผู้มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะด้านวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ดูแล และให้ความเห็นทางการแพทย์ในผู้ป่วย ที่มารับบริการทุกราย 2. ก่อนที่บริษัทฯ จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลในชื่อของบริษัทฯ เพื่อประกอบกิจการตามข้อ 1 (ระหว่างปี พ.ศ. 2543-2549) บริษัทฯ ได้ให้บริการทางการแพทย์ภายใต้ใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการสถานพยาบาลในชื่อของนายแพทย์ ก. ซึ่งอยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ และบริษัทฯ เข้าใจมาโดยตลอดว่า ใบอนุญาตของนายแพทย์เกษมฯ สามารถใช้เพื่อดำเนินกิจการสถานพยาบาลของบริษัทฯ ได้ เนื่องจากนายแพทย์ ก. มีฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของนิติบุคคล ตามมาตรา 77 มาตรา 797 มาตรา 820 มาตรา 821 และมาตรา 1167 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ บริษัทฯ หารือว่า การประกอบกิจการสถานพยาบาลของบริษัทฯ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2543-2549 โดยใช้ใบอนุญาตฯ ในชื่อของกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ | แนววินิจฉัย | เนื่องจากใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล เป็นใบอนุญาตเฉพาะตัวสำหรับผู้มีชื่อในใบอนุญาตเท่านั้นตามมาตรา 4 วรรคสาม มาตรา 16 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ดังนั้น การที่บริษัทฯ ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตในชื่อของบริษัทฯย่อมถือไม่ได้ว่าบริษัทฯ เป็นสถานพยาบาลได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 71/35690 |