เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./1893
วันที่: 25 เมษายน 2551
เรื่อง: พรบ.ส่งเสริมการลงทุน มาตรา 3 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: พรบ.ส่งเสริมการลงทุน มาตรา 3 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ         1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รอบระยะเวลาบัญชี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุนจำนวน 2 โครงการ คือ
         1.1 โครงการที่หนึ่ง กิจการผลิตอุปกรณ์เครื่องสุขภัณฑ์ (Brass Sanitary Fitting) ประเภท 4.8 กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานยนต์หรือชิ้นส่วนโลหะสำหรับผลิตภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ขนาดของกิจการ มีกำลังการผลิตอุปกรณ์ประกอบ เครื่องสุขภัณฑ์ปีละประมาณ 1,076,362 ชิ้น เวลาทำงาน 16 ชั่วโมง/วัน : 258วัน/ปี ต่อมามีการแก้ไข เพิ่มเติมบัตรส่งเสริมฯ เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1,939,955 ชิ้น (2,716 ตัน) เวลาทำงาน 24 ชั่วโมง/วัน : 310 วัน/ ปี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 สิทธิประโยชน์ คือ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาแปดปี นับแต่วันที่เริ่มมี รายได้จากการประกอบกิจการตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตราปกติมีกำหนด 5 ปี นับจากวันที่ พ้นกำหนดระยะเวลาแปดปีตาม มาตรา 35 (2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520
         1.2 โครงการที่สอง กิจการผลิตอุปกรณ์เครื่องสุขภัณฑ์ (Brass Sanitary Fitting) ประเภท 4.3 กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2549 ขนาด ของกิจการมีกำลังการผลิตอุปกรณ์ประกอบเครื่องสุขภัณฑ์ปีละประมาณ 1,900,000 ชิ้น เวลาทำงาน 24 ชั่วโมง/วัน : 310 วัน/ปี สิทธิประโยชน์คือ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้ จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมมีกำหนดเวลาสี่ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบ กิจการตามมาตรา 31 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนฯ บริษัทฯ เริ่มมีรายได้ครั้งแรก จากการประกอบกิจการเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 ทั้งนี้ จำนวนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับ การยกเว้นมีมูลค่าไม่เกิน 465,410,000 บาท โดยจะปรับเปลี่ยนตามจำนวนเงินลงทุน โดยไม่รวม ค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนที่แท้จริงของวันเปิดดำเนินการ
         2. บริษัทฯ มีปัญหาในการแยกบันทึกรายได้และค่าใช้จ่าย เนื่องจาก ลักษณะสินค้าและการผลิต เป็นการผลิตอุปกรณ์ประกอบเครื่องสุขภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการปัจจุบันนี้สิทธิในการ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฯ ฉบับแรกได้สิ้นสุดลงแล้วและอยู่ในระหว่างการได้รับสิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 50 รวมทั้งสิทธิในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ ที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมฯ ฉบับที่สองที่กำลัง การผลิต 1,900,000 ชิ้นต่อปี
         3. บริษัทฯ เข้าใจว่า กรณีที่สินค้าตามบัตรส่งเสริมฯ เป็นสินค้าลักษณะเดียวกันและไม่อาจ แยกได้ว่า เป็นสินค้าตามบัตรส่งเสริมใด ในการคิดคำนวณแยกรายได้ระหว่างรายได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลและรายได้ที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น กรมสรรพากรได้มีแนววินิจฉัย สรุปความว่า การคำนวณกำไรสุทธิสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หากได้รับการส่งเสริม การลงทุนมากกว่า 1 โครงการ ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิจากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลทั้งหมดก่อนรายได้ที่เหลือจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการที่ไม่ได้รับ ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้
         3.1 บริษัทฯ จะคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้รับจากการขายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ การส่งเสริมการลงทุน โดยขอใช้สิทธิประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมฯ ที่ได้รับทั้งสองฉบับโดยแบ่งตาม กำลังการผลิตสำหรับโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังมีสิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามบัตรส่งเสริมฉบับที่สองก่อน คือ จำนวน 1,900,000 ชิ้น ส่วนที่เหลือให้ถือเป็นรายได้ตามบัตร ส่งเสริมฉบับที่หนึ่งที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 วิธีการดังกล่าวถูกต้อง และยอมรับในประมวลรัษฎากรหรือไม่
         3.2 บริษัทฯ มีรายได้ครั้งแรกของบัตรส่งเสริมฉบับที่สอง ซึ่งยังได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งไม่เต็มปี ดังนั้น ในการคิดคำนวณการยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2549 บริษัทฯ ต้องเฉลี่ยรายได้ที่ได้รับยกเว้นตามกำลังการผลิตซึ่งคำนวณเป็นวันและเดือน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2549 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ซึ่งทำ ให้รายได้ครั้งแรกของบริษัทฯ ในปี 2549 ไม่เต็มกำลังการผลิต 1,900,000 ชิ้น ถูกต้องหรือไม่
         3.3 ในการคิดต้นทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน หากบริษัทฯ มี รายได้อื่นจากกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้ว่า ต้นทุนใด เป็นของกิจการที่ได้รับยกเว้นหรือไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น บริษัทฯ จะคำนวณ ต้นทุนของทั้งสองกิจการโดยการเฉลี่ยรายได้ตามสัดส่วนของกิจการที่ได้รับยกเว้นและไม่ได้ รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามที่ระบุไว้ในข้อ 2.4 วรรคท้ายของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริม การลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ได้หรือไม่
         4. บริษัทฯ ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีสินค้าที่บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสอง โครงการเป็นสินค้าที่มีลักษณะและการผลิตเหมือนกันทุกประการ แต่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ต่างประเภทกัน กล่าวคือบัตรส่งเสริมฯ ฉบับแรก บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ ผลิตอุปกรณ์ประกอบเครื่องสุขภัณฑ์ (Brass Sanitary Fitting) ประเภท 4.8 กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ รวมทั้งชิ้นส่วนโลหะสำหรับยานยนต์หรือชิ้นส่วนโลหะสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ บัตรส่งเสริมฯ ฉบับที่สอง บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ ผลิตอุปกรณ์ประกอบเครื่องสุขภัณฑ์ (Brass Sanitary Fitting) ประเภท 4.3 กิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ เนื่องจาก มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ จึงทำให้ประเภทหมวดหมู่ของกิจการที่ได้รับการ ส่งเสริมการลงทุนมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
แนววินิจฉัย         1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตสินค้าลักษณะเดียวกันและไม่อาจแยกได้ว่าเป็นสินค้า ตามบัตรส่งเสริมใด ในการคำนวณว่ารายได้ส่วนใดเป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และรายได้ ส่วนใดไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ให้ถือว่ารายได้จากการขายอุปกรณ์เครื่องสุขภัณฑ์ จำนวน 1,900,000 ชิ้น เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามบัตรส่งเสริมฯ เลขที่ 1244(4)/2549 รายได้จากการขายอุปกรณ์เครื่องสุขภัณฑ์ส่วนที่เหลือเป็นรายได้ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 50 ตามบัตรส่งเสริมที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ
         2. กรณีบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตอุปกรณ์เครื่องสุขภัณฑ์ตาม บัตรส่งเสริมฯ โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 1,900,000 ชิ้น เวลาทำงาน 24 ชั่วโมง/วัน : 310 วัน/ปี ซึ่งหากบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับการส่งเสริมครบถ้วน ก็จะได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายผลิตภัณฑ์เฉพาะส่วนที่ไม่เกินจำนวนที่ได้รับการส่งเสริมเป็น เวลาสี่ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีรายได้จากการประกอบ กิจการตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2549 ดังนั้น ในการคำนวณกำลังการผลิตในรอบระยะเวลา บัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 จะต้องนำกำลังการผลิตที่ได้รับการส่งเสริม หารด้วย จำนวนวันทำการตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมฯ คูณด้วยจำนวนวันทำการจากวันที่เริ่มมีรายได้ ถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้
         1,900,000 ชิ้น คูณ จำนวนวันทำการ ( 2 พ.ค.49 - 31 ธ.ค. 49)
         310 วัน
         3. กรณีบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิแต่ละ กิจการแยกออกจากกัน ดังนั้น หากรายได้หรือรายจ่ายรายการใด ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยชัดแจ้งและไม่มีเกณฑ์อื่นที่จะเฉลี่ยรายได้หรือรายจ่ายนั้นได้เป็นการเหมาะสมแล้ว ก็ให้เฉลี่ย รายได้หรือรายจ่ายดังกล่าวออกตามส่วนของรายได้จากกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีโดยเฉลี่ยเฉพาะรายได้ ที่เกิดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น
เลขตู้: 71/35814

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020