เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/1471
วันที่: 10 เมษายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยและเงินค่าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (องค์การมหาชน)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5) และมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ         นาย ก. ได้รับเงินชดเชยและเงินช่วยเหลือจากการยุบเลิกสำนักงานบริหารการแปลง สินทรัพย์เป็นทุน (สปท.) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ซึ่งกรมสรรพากร ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2550 วินิจฉัยว่า เงินชดเชยและเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ กรณี ยุบเลิก สปท. ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวถือเป็นเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานตาม มาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และ สปท. ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก. จึงขอทราบว่า
         1. เงินชดเชยและเงินช่วยเหลือที่นาย ก. ได้รับ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนของการทำงานสามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร หรือไม่
         2. เงินชดเชยและเงินช่วยเหลือตาม 1 นาย ก. มีสิทธิเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
         3. กรณีนาย ก. ได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะทำงานสนับสนุนการกำกับติดตามดูแลภารกิจที่ถ่ายโอน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้ว่าจ้างมีระยะเวลาการจ้าง 1 ปี ตามใบสั่งจ้างระบุว่า"ผู้รับจ้างต้องส่งมอบ งานจ้างภายใน 10 วัน นับจากวันสุดท้ายของทุกเดือน หากมีการส่งงานล่าช้าผู้รับจ้างยอมให้คิดค่าปรับเป็นรายวัน" เงินค่าจ้างตามใบสั่งจ้างดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตราใด และต้องนำไปคำนวณภาษีอย่างไร
แนววินิจฉัย         1. กรณีตาม 1 เงินชดเชยและเงินช่วยเหลือที่นาย ก. ได้รับ ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินค่าชดเชย ที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมาย ว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณ อายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน สามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เนื่องจาก ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า "กิจการขององค์การมหาชน ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมาย ว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ..." ดังนั้น เงินชดเชยและเงินช่วยเหลือที่ นาย ก. ได้รับ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคล ธรรมดา เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้าง หรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว
         2. กรณีตาม 2 เนื่องจาก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวล รัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48 (5) และมาตรา 50 (1) แห่ง ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 กำหนดให้ กรณีผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหาก จากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งนายจ้างจ่ายให้เนื่องจากออกจากงานที่มีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนั้น กรณี สปท. ถูกยุบเลิกตามมติคณะรัฐมนตรีก่อนครบกำหนด 5 ปี นาย ก. จึงไม่มีสิทธิเลือกเสียภาษี ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
         3. กรณีตาม 3 นาย ก. ได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะทำงานสนับสนุนการกำกับติดตามดูแลภารกิจ ที่ถ่ายโอน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 โดยมีระยะเวลาการจ้าง 1 ปีมีลักษณะ เป็นการรับทำงานให้ ซึ่งมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสาระสำคัญเป็นการทำงานให้เกิดผลอย่างใดอย่าง หนึ่งขึ้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับทำสิ่งของหรือวัตถุมีรูปร่างก็ได้ จึงเป็นสัญญารับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ค่าตอบแทนที่นาย ก. ได้รับจาก สศช.จึงเข้าลักษณะเป็น เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35783

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020