เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./2235
วันที่: 12 พฤษภาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการส่งออกบริการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ         บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและส่งออกซอฟท์แวร์ประยุกต์ไบโอเมตริกส์ บริษัทฯ ได้รับความช่วยทางการเงินจากบริษัท (ญี่ปุ่น) ในรูปของการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้ทำการวิจัยและทดลองผลิตซอฟท์แวร์ โดยได้โอนเงินผ่านธนาคารมาให้บริษัทฯ และบริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีบริษัท (ญี่ปุ่น) เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ เมื่อบริษัทฯ ทำการค้นคว้าซอฟท์แวร์สำเร็จและนำมาใช้งานได้จริง บริษัทฯ จะส่งซอฟท์แวร์ไปให้บริษัท (ญี่ปุ่น) และเรียกเก็บเงินค่าซอฟท์แวร์พร้อมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่า เป็นการขายสินค้าประเภทไม่มีรูปร่าง และบริษัท (ญี่ปุ่น) จะชำระเงินค่าซอฟท์แวร์ดังกล่าวด้วยวิธีให้บริษัทฯ ทำการหักเงินค่าซอฟท์แวร์ที่เรียกเก็บ ออกจากเงินกู้ยืมที่บริษัท (ญี่ปุ่น) ได้ให้บริษัทฯ กู้มาเพื่อทำการวิจัยค้นคว้า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 12 ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า การพัฒนาซอฟท์แวร์ตามที่บริษัทฯ ได้กระทำมิใช่เป็นการส่งออกสินค้า หากแต่เป็นการให้บริการในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ จะต้องมีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนมาแสดง บริษัทฯ จึงจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3 ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตาม มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 บริษัทฯ จึงหารือว่า การชำระหนี้ด้วยวิธีการหักกลบลบหนี้โดยบริษัทฯ ไม่มีหลักฐานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวมาแสดง บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย         1. หากบริษัทฯ ไม่มีการพัฒนาและผลิตระบบซอฟท์แวร์ขายเป็นการทั่วไป การที่บริษัทฯ รับจ้าง บริษัท (ญี่ปุ่น) พัฒนาและผลิตระบบซอฟท์แวร์ ตามข้อกำหนดของบริษัท (ญี่ปุ่น) และลิขสิทธิ์ในระบบซอฟท์แวร์ดังกล่าว เป็นของบริษัท (ญี่ปุ่น) เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของ ซึ่งเป็นบริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น หากบริษัทฯ พิสูจน์ได้ว่า บริษัทฯ ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด และบริษัทฯ มีหลักฐานแสดงการชำระราคาค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ในนามของ ผู้ประกอบการจดทะเบียน เช่น หลักฐานการเปิด L/C (Letter of Credit) หลักฐานการจัดทำ T/T (Telex Transfer) หรือ T/P (Term of Payment) เอกสารใบเสร็จรับเงิน หลักฐานการรับชำระเงินตาม L/C (Letter of Credit) หรือ Bank Statement เอกสารที่ระบุว่า นำเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยสมุดคู่ฝาก เอกสารการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยมีสมุดคู่ฝาก หลักฐานการรับชำระเงินตามบัตรเครดิต การใช้ E-money หรือ E-cash บริษัทฯ จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
         2. กรณีที่บริษัทฯ กู้เงินจากบริษัท (ญี่ปุ่น) นั้น หากพิสูจน์ได้ว่า สัญญากู้ดังกล่าวได้กระทำกันโดยสุจริต มิได้ทำขึ้นโดยมุ่งหมายที่จะให้เป็นการชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้า บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิหักกลบลบหนี้ตามสัญญากู้กับหนี้ตามสัญญารับจ้างทำของได้ ตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ดี หากปรากฏว่า ค่าบริการตามสัญญาจ้างต่ำกว่าราคาตลาด บริษัทฯ จะต้องนำผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นค่าจ้างด้วย ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35839

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020