เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./2390 |
วันที่ | : 16 พฤษภาคม 2551 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใบกำกับภาษีซื้อจากการโอนเงินค่าเสียหายไปต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 82/3 และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัทฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดำเนินกิจการให้บริการรับเหมาติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล และระบบดับเพลิง ในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ชำระเงินไปต่างประเทศให้กับบริษัท สิงคโปร์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเทศสิงคโปร์ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เป็นค่าชดเชยความเสียหายจากการทำซ้ำ และใช้งานวรรณกรรมประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ "ออโต้แคด" ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ จะมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ และหากบริษัทฯ ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จะมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งมาเป็นภาษีซื้อเพื่อเครดิตออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ได้หรือไม่ | แนววินิจฉัย | กรณีที่บริษัทฯ ชำระเงินให้กับบริษัทสิงคโปร์ เป็นค่าชดเชยความเสียหายจากการทำซ้ำและใช้งานวรรณกรรมฯ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์โดยมิได้รับอนุญาต นั้น หากมิได้เป็นการจ่ายตามคำพิพากษาของศาลที่สั่งให้จ่ายเป็นค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ การจ่ายเงินค่าเสียหายดังกล่าวถือว่า เป็นการจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการดังกล่าว มาเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 71/35860 |