เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/2873
วันที่: 2 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการว่าจ้างสกัดสารสกัดจากพริก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13) มาตรา 77/1(8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ (ผู้ว่าจ้าง) ได้ทำสัญญาจ้างสกัดสารสกัดจากพริกกับ บริษัท ก. จำกัด (ผู้รับจ้าง) มีกำหนดเวลาสองปี โดยผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้จัดหาพริกส่งไปสกัด ณ โรงงานของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างมี หน้าที่ต้องสกัดสารสกัดจากพริกให้ได้คุณลักษณะ ตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดยใช้เครื่องจักร แรงงาน ทักษะ ความรู้ความชำนาญของผู้รับจ้างเอง สัญญาจ้างกำหนดให้ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องจัดหาวัสดุและ อุปกรณ์ให้แก่ผู้รับจ้าง ดังนี้
          1. ตู้แช่คอนเทนเนอร์ ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ตามสัญญาจ้างในการจัดหาตู้แช่คอนเทนเนอร์เพื่อ แช่เย็นพริกให้อยู่ในสภาพสดใหม่ก่อนที่จะมีการเบิกพริกเข้าสู่กระบวนการสกัด ตู้แช่คอนเทนเนอร์ ดังกล่าว จะนำไปไว้ในบริเวณโรงงานของผู้รับจ้าง แต่มีข้อกำหนดไว้ในสัญญาจ้างว่า ผู้รับจ้างจะใช้ตู้แช่ คอนเทนเนอร์สำหรับเก็บพริกของผู้ว่าจ้างเท่านั้น และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง ผู้รับจ้างต้องคืนตู้แช่ คอนเทนเนอร์ให้ผู้ว่าจ้าง
          2. สารเคมีที่ใช้ในการสกัดพริกและบรรจุภัณฑ์ ในการสกัดสารสกัดจากพริกจำเป็นต้องใช้ สารเคมีเฮกเซน (Hexane) ตามสัญญาจ้างกำหนดให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสารเคมีเฮกเซนให้แก่ผู้รับจ้าง โดยผู้รับจ้างจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างไม่ได้ และห้าม ผู้รับจ้างจำหน่ายจ่ายโอนสารเคมีเฮกเซนโดยปราศจากความยินยอมของผู้ว่าจ้าง นอกจากนี้ ผู้ว่าจ้าง จะต้องจัดหาบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้รับจ้าง เพื่อใช้บรรจุสารสกัดจากพริกของผู้ว่าจ้างโดยเฉพาะ ผู้รับจ้าง จะนำบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไปใช้กับสินค้าอื่นของผู้รับจ้างไม่ได้
          3. ถังขนาดใหญ่ใส่สารเคมีเฮกเซน ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จัดหาถังเก็บสารเคมีเฮกเซน โดยจะนำถัง ไปตั้งไว้ในบริเวณโรงงานของผู้รับจ้าง เพื่อให้ผู้รับจ้างใช้เก็บสารเคมีเฮกเซนสำหรับกระบวนการสกัด พริกเท่านั้น ผู้รับจ้างจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างไม่ได้ เมื่อ สัญญาจ้างสิ้นสุดลง ผู้รับจ้างต้องคืนถังให้กับผู้ว่าจ้าง
          ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ (ผู้ว่าจ้าง) จึงขอทราบว่า
          1. กรณีผู้ว่าจ้างเช่าตู้คอนเทนเนอร์จากผู้ให้เช่า รวมทั้งเช่าถังเก็บสารเคมีเฮกเซน ค่าเช่าจะ ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามนำไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ หรือไม่
          2. กรณีผู้ว่าจ้างนำตู้แช่คอนเทนเนอร์และถังเก็บสารเคมีไปให้ผู้รับจ้างใช้ในกระบวนการสกัด
          สารสกัดจากพริกเพื่อประโยชน์ของผู้ว่าจ้างเองนั้น กรณีจะถือว่า มีเหตุอันสมควร ที่ทำให้ผู้ว่าจ้าง ไม่ต้องเรียกเก็บค่าเช่าหรือค่าใช้ประโยชน์ในตู้แช่คอนเทนเนอร์และถังเก็บสารเคมีจากผู้รับจ้าง ตาม มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ และจะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับจ้าง ในการใช้ทรัพย์สินดังกล่าวหรือไม่
          3. การที่ผู้ว่าจ้างนำสารเคมีเฮกเซนและบรรจุภัณฑ์ไปให้ผู้รับจ้างใช้ในการสกัดสารสกัดจากพริก เพื่อประโยชน์ของผู้ว่าจ้างเองนั้น กรณีจะถือว่ามีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ทำให้ผู้ว่าจ้างไม่ต้องเรียกเก็บค่าตอบแทนจากการให้ผู้รับจ้างใช้สารเคมีเฮกเซนและบรรจุภัณฑ์หรือไม่ และต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับจ้างในการใช้สารเคมีเฮกเซนและบรรจุภัณฑ์หรือไม่
          4. ผู้รับจ้างจะเรียกเก็บค่าสกัดสารสกัดจากพริกโดยจะออกใบแจ้งหนี้ มีกำหนดชำระหนี้ภายใน 45 วันนับแต่วันที่วางใบแจ้งหนี้ ผู้ว่าจ้างเข้าใจว่า ภาระภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นแล้วเพราะถือว่า มีการใช้บริการ ดังนั้น จึงต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้รับจ้างในวันที่ได้รับใบแจ้งหนี้และถือว่ามีภาษีซื้อเกิดขึ้นในเดือน ที่ได้รับใบแจ้งหนี้ ไม่ใช่เดือนที่มีการชำระเงิน ความเข้าใจของผู้ว่าจ้างถูกต้องหรือไม่
          5. ตู้แช่คอนเทนเนอร์จำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าในการแช่เย็นพริก ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ออกค่าไฟฟ้า โดยให้ผู้รับจ้างทดรองจ่ายไปก่อน เมื่อผู้รับจ้างชำระค่าไฟฟ้าไปแล้วจะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในส่วนที่เป็น ค่าไฟฟ้าของตู้แช่คอนเทนเนอร์จากผู้ว่าจ้างในภายหลัง ในการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าดังกล่าว ผู้รับจ้างจะ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้างหรือไม่ และเมื่อผู้ว่าจ้างชำระเงินค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้าง จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1. ผู้ว่าจ้างเช่าตู้แช่คอนเทนเนอร์และถังเก็บสารเคมีเฮกเซน แล้วนำไปไว้ในบริเวณโรงงานของผู้รับจ้าง เพื่อใช้ในกระบวนการสกัดสารสกัดจากพริก โดยผู้รับจ้างจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากที่ตกลงกันไว้ในสัญญาจ้างไม่ได้ และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง ผู้รับจ้างต้องคืนตู้แช่คอนเทนเนอร์ และถังเก็บสารเคมีเฮกเซนแก่ผู้ว่าจ้าง เป็นกรณีผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ ตามมาตรา 590 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ค่าเช่าสัมภาระดังกล่าว จึงถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ของผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างมีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีตาม 2. และ 3. การที่ผู้ว่าจ้างนำตู้แช่คอนเทนเนอร์ ถังเก็บสารเคมี สารเคมีเฮกเซน และ บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นสัมภาระที่ผู้ว่าจ้างมีหน้าที่จัดหาให้ผู้รับจ้างเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการสกัดสารสกัด จากพริก โดยสัญญาจ้างระบุว่า กรรมสิทธิ์และความเสี่ยงภัยในสัมภาระยังเป็นของผู้ว่าจ้าง จึงเป็นกรณี ที่ผู้ว่าจ้างมิได้มีเจตนาโอนกรรมสิทธิ์ในสัมภาระให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจึงเป็นเพียงผู้ครอบครองสัมภาระ ดังกล่าวเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเท่านั้น จึงไม่ถือเป็นการขายสินค้าหรือให้บริการ ตามมาตรา 77/1(8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ว่าจ้างจึงไม่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับจ้างตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีตาม 4. การรับจ้างสกัดสารสกัดจากพริกถือเป็นการให้บริการ ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีผู้รับจ้างวางใบแจ้งหนี้และมีกำหนดชำระหนี้ภายใน 45 วันนับแต่วันที่วางใบแจ้งหนี้ โดยยังไม่ได้รับชำระราคาค่าบริการ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจึงยังไม่เกิดขึ้น
          4. กรณีตาม 5. การที่ผู้รับจ้างชำระค่าไฟฟ้าที่ใช้กับตู้แช่คอนเทนเนอร์ แล้วเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจาก ผู้ว่าจ้างในภายหลัง เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจ้างจึงต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง และ กรณีดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
เลขตู้: 71/35900

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020