เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.02)/1250
วันที่: 19 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินประเภท เครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทน (ข้อหารือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3(2) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460)
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2532 ให้ได้รับลดหย่อนอากรขาเข้าและหรือภาษีการค้าสำหรับเครื่องจักรเพียงกึ่งหนึ่ง บริษัทฯ มิได้รับสิทธิประโยชน์ให้ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต่อมาในปี 2537 บริษัทฯ ได้ขอเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริม การลงทุน พ.ศ. 2520 เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงว่าด้วยการระงับการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนการส่งออก สินค้าเส้นด้ายและผ้าผืนไทย และได้รับอนุมัติให้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2536
          2. เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 บริษัทฯ ได้ขายเครื่องจักรเก่าที่ใช้ในการผลิตสินค้าจำนวน 2 เครื่อง และ ซื้อเครื่องจักรใหม่ประเภทเดียวกันทดแทนจำนวน 2 เครื่อง เมื่อเดือนเมษายน 2549 และเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ตามลำดับ เครื่องจักรเก่าที่ขายไปนั้นเป็นเครื่องจักรที่บริษัทฯ ซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งเอกสารการได้มาของ เครื่องจักรเก่าทั้ง 2 เครื่อง เป็นเอกสารที่มีอายุการเก็บนานเกิน 10 ปี และบริษัทฯ ได้ทำลายไปแล้วเมื่อเดือน มิถุนายน 2548 บริษัทฯ จึงมีหลักฐานการได้มาเพียงบัตรประจำตัวทรัพย์สินและสำเนาอินวอยซ์ (Invoice) ของเครื่องจักรเก่าที่ขายไป
          จากข้อเท็จจริงตาม 1. และ 2. บริษัทฯ จึงขอทราบว่า เงินได้ที่ได้รับจากการขายเครื่องจักรที่ใช้ใน การประกอบกิจการเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนดังกล่าว บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีที่บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2532 และได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 29 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โดยได้รับสิทธิลดหย่อนอากรขาเข้าและหรือภาษีการค้าสำหรับ เครื่องจักรเพียงกึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติส่งเสริม การลงทุน พ.ศ. 2520 ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน 2534 และนำเข้าอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเครื่องจักรเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2543 ตามลำดับ ต่อมาบริษัทฯ ได้รับการเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 28 มาตรา 29 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2536 ทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีใดๆ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 อีกต่อไป ดังนั้น แม้จะปรากฏว่าบริษัทฯ ได้นำเข้าเครื่องจักร ที่ใช้ในการผลิตสินค้าก่อนได้รับการเพิกถอนสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 โดยได้รับลดหย่อนอากรขาเข้าและหรือภาษีการค้าสำหรับเครื่องจักรเพียงกึ่งหนึ่งก็ตาม แต่เครื่องจักร ที่บริษัทฯ ได้ขายไปดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่บริษัทฯ นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งก่อให้เกิด รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามข้อ 5 (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 157) ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 163) ฯ ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550 กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นการต้องห้ามตามข้อ 5(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว
          2. กรณีหลักฐานการได้มาของเครื่องจักร 2 เครื่องที่บริษัทฯ ขายไป เนื่องจากเป็นเอกสารที่มีอายุการเก็บ นานเกิน 10 ปี บริษัทฯ จึงได้ทำลายไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2548 คงมีเพียงบัตรประจำตัวทรัพย์สิน และสำเนา อินวอยส์ (Invoice) เท่านั้น ซึ่งตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 157)ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 163)ฯ ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550 กำหนดว่า " ทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ขายต้องมี หลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ สัญญาซื้อขายโอน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน บัญชีทรัพย์สิน หรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกัน..." ดังนั้น บัตรประจำตัวทรัพย์สิน และ สำเนาอินวอยซ์ (Invoice) ของเครื่องจักรทั้ง 2 เครื่องดังกล่าว หากมีรายการในลักษณะเดียวกันกับใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ สัญญาซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน หรือบัญชีทรัพย์สิน แล้ว ย่อมถือเป็น "เอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกัน" ตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว จึงจะเป็นหลักฐาน การได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทฯ ได้
          ดังนั้น หากการขายเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนดังกล่าว เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 157)ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 163)ฯ ลงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550 บริษัทฯ มีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 3(2) แห่งพระราช- กฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549
เลขตู้: 71/35962

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020