เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3024
วันที่: 5 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ก) มาตรา 40(8) มาตรา 50 มาตรา 77/1(10) มาตรา 91/2 มาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ          บริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการระบบงานคอมพิวเตอร์แก่บุคคลที่ทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ โดยการให้บริการระบบงานดังกล่าวครอบคลุมถึงการคำนวณภาระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีอื่นใดที่เกี่ยวข้อง กับการทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ บริษัทฯ จึงขอหารือประเด็นภาษีอากร ดังต่อไปนี้
          1. เงินชดเชยเงินปันผล/ดอกเบี้ยจากการให้ยืมหลักทรัพย์ (Manufactured Income) กรณีผู้ยืมหลักทรัพย์ได้รับเงินปันผล/ดอกเบี้ยจากหลักทรัพย์ที่ยืม ผู้ยืมจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินปันผล/ดอกเบี้ยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ยืมมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยเงินปันผล/ดอกเบี้ย (Manufactured Income) ให้แก่ผู้ให้ยืมเต็มตามจำนวนที่ได้รับหรือเท่ากับจำนวนเงินปันผล/ดอกเบี้ยก่อนหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ บริษัทฯ เข้าใจว่า ผู้ยืม หลักทรัพย์สามารถนำหลักฐานการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินปันผล/ดอกเบี้ยดังกล่าวไปใช้เป็นเครดิตภาษี ในการคำนวณภาษีเงินได้ตอนสิ้นปี ในขณะที่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์เมื่อได้รับเงินชดเชยเงินปันผล/ดอกเบี้ย จะไม่ถูก หักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากเงินชดเชยเงินปันผล/ดอกเบี้ย ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตอนสิ้นปี
          อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ย หากผู้ให้ยืมหลักทรัพย์เป็นบุคคล ที่ประกอบกิจการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินชดเชยเงินดอกเบี้ยที่ได้รับดังกล่าวด้วย
          2. เงินดอกเบี้ยที่ได้รับจากการวางหลักประกันเป็นเงินสด (Rebate) กรณีผู้ยืมหลักทรัพย์ได้วางหลักประกัน ในการยืมหลักทรัพย์เป็นเงินสด (Cash Collateral) หากผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ได้นำหลักประกันดังกล่าวไปบริหารจน เกิดดอกผล ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินดอกผลที่ได้รับตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยผู้ให้ยืมหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องนำดอกผลดังกล่าวมารวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีตอนสิ้นปี และเมื่อผู้ให้ยืม หลักทรัพย์จ่ายคืนดอกผลที่ได้รับจากการบริหารหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้ยืมหลักทรัพย์ ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ สามารถนำดอกผลที่จ่ายคืนดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษี รวมถึงสิทธินำเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ถูกหักไว้สำหรับดอกผลดังกล่าวมาเครดิตภาษีตอนสิ้นปี ทั้งนี้ เมื่อผู้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าของเงินหลักประกัน ได้รับคืนดอกผลดังกล่าว ผู้ยืมหลักทรัพย์จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากเงินได้ ดังกล่าวถือเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับดอกเบี้ย ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
          นอกจากนี้ ผู้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งได้รับดอกผลจากเงินหลักประกันที่เป็นเงินสด ถือว่า ดอกผล ดังกล่าวเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตาม มาตรา 81/2(5) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. เงินค่าธรรมเนียมในการให้ยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) กรณีผู้ให้ยืมหลักทรัพย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ในการให้ยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) จากผู้ยืมโดยมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน ดังนี้
               3.1 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการให้ยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) โดยคำนวณจากมูลค่าของ หลักทรัพย์ที่ให้ยืม และระยะเวลาในการยืมหลักทรัพย์ โดยผู้ให้ยืมอาจมีการกำหนดจำนวนเงินค่าธรรมเนียม ขั้นต่ำคงที่ไว้จำนวนหนึ่ง กรณีเช่นนี้ถือเป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่มีลักษณะทำนองเดียวกับการคิดดอกเบี้ย จึงถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ให้ยืมหลักทรัพย์จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
               3.2 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการให้ยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) โดยคิดเป็นอัตราเหมา หรือ เรียกเก็บในลักษณะอื่นใดที่ไม่ได้คำนวณตามวิธีในข้อ 3.1 กรณีเช่นนี้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวล รัษฎากร ถ้าผู้ยืมหลักทรัพย์เป็นบุคคลธรรมดา ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งได้รับค่า Lending Fee จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่หากผู้ยืมหลักทรัพย์เป็นนิติบุคคล ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งได้รับค่า Lending Fee จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3 ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึง ประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
               นอกจากนี้ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมให้บริการยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) หากผู้ให้ยืมหลักทรัพย์เป็นผู้ที่ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าธรรมเนียมดังกล่าวด้วย ตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
          บริษัทฯ จึงขอถามว่า ความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องแล้วหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีผู้ยืมหลักทรัพย์ตามสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ ได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยจากหลักทรัพย์ที่ยืม บริษัทผู้จ่ายเงินปันผลหรือดอกเบี้ยมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 และข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้ถือเป็นเครดิตของผู้ยืมหลักทรัพย์ในการคำนวณภาษีเงินได้
          2. เงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ย เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่ง ประมวลรัษฎากร กรณีผู้ยืมหลักทรัพย์จ่ายเงินชดเชยเงินปันผลหรือ เงินชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ยืมหลักทรัพย์ตามสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ ผู้ยืมหลักทรัพย์ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดให้หักภาษีแต่อย่างใด
          3. กรณีผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ยตามสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ หากผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 และ 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร
          4. กรณีผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ตามสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ได้นำหลักประกันเป็นเงินสด (Cash Collateral) ไปบริหารจนเกิดดอกผล ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ต้องนำดอกผลที่ได้รับไปรวมคำนวณเป็นเงินได้หรือรายได้ และให้นำดอกผล ที่จ่ายคืนให้แก่ผู้ยืมหลักทรัพย์ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จาก ดอกผลดังกล่าวให้ถือเป็นเครดิตของผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ในการคำนวณเสียภาษีเงินได้
          5. เงินดอกเบี้ยที่ได้รับจากการวางหลักประกันเป็นเงินสด (Rebate) ตามสัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ เข้า ลักษณะเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืม หรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ซึ่งจ่ายเงินดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่ผู้ยืมหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
          กรณีผู้ยืมหลักทรัพย์ได้รับเงินดอกเบี้ยที่ได้รับจากการวางหลักประก้นเป็นเงินสด (Rebate) ผู้ยืมหลักทรัพย์ ต้องนำเงินดอกเบี้ยดังกล่าวคำนวณเป็นรายรับเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2(5) และมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร
          6. กรณีผู้ให้ยืมหลักทรัพย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ (Lending Fee) จากผู้ยืมหลักทรัพย์ตาม สัญญายืมหรือให้ยืมหลักทรัพย์ ผู้ยืมหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ที่จ่ายให้แก่ผู้ให้ยืม หลักทรัพย์ ดังต่อไปนี้
               6.1 ค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์จากการทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ โดยคำนวณจากมูลค่า ของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมและระยะเวลาในการยืมหลักทรัพย์ โดยผู้ให้ยืมหลักทรัพย์อาจมีการกำหนดจำนวนเงิน ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำคงที่ไว้จำนวนหนึ่ง เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์ หรือค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืมหรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิดไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ยืมหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
               6.2 ค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์จากการทำธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ โดยคิดเป็นอัตรา เหมาหรือเรียกเก็บในลักษณะอื่นใดที่ไม่ได้คำนวณตามวิธีในข้อ 6.1 เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ยืมหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
               6.3 ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยืม หลักทรัพย์จากผู้ยืมหลักทรัพย์ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมการยืมหลักทรัพย์ไปรวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/35913

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020