เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3627
วันที่: 27 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจัดสร้างพระพุทธโสธร รุ่นทองประทานจำหน่าย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 และมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          สมาคมฯ ได้จัดสร้างพระพุทธโสธรฯ จำหน่ายเพื่อนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแบ่งออกไปใช้ดำเนินกิจกรรม สาธารณกุศลต่างๆ และเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจน และนำไปใช้ในการก่อสร้าง ที่ทำการถาวรของสมาคมฯ โดยไม่ได้แสวงหาผลกำไร หรือทำเป็นปกติธุระ สมาคมฯ จึงขอทราบว่า กรณีสมาคมฯ จัดสร้างพระพุทธโสธรฯ จำหน่ายจะมีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร ่
แนววินิจฉัย          1. กรณีสมาคมฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร จากรายได้จาก การประกอบกิจการและเนื่องจากการประกอบกิจการ เว้นแต่เงินค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงที่ได้รับจากสมาชิก หรือเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการรับบริจาคหรือจากการให้โดยเสน่หาที่สมาคมฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็น รายได้ตามมาตรา 65 ทวิ(13) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น สมาคมฯ จึงต้องนำเงินได้จากการจำหน่ายพระพุทธโสธรฯ ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร มาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลใน อัตราร้อยละ 2.0 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535
          2. กรณีสมาคมฯ จัดสร้างพระพุทธโสธรฯ จำหน่ายนั้น หากสมาคมฯ ไม่ได้ทำเป็นปกติธุระ และได้นำรายรับ ทั้งหมดจากการจำหน่ายไปใช้ในการช่วยเหลือสาธารณกุศลของสมาคมฯ โดยไม่ได้นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น ยัง ไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา 77/1(5) แห่ง ประมวลรัษฎากร ดังนั้น สมาคมฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
เลขตู้: 71/35968

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020