เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3649
วันที่: 30 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการหักภาษี ณ ที่จ่ายของข้าราชการบำนาญที่อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี บริบูรณ์
ข้อกฎหมาย: กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470)
ข้อหารือ          1. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2551 เพิ่มเป็น 150,000 บาท ใช่หรือไม่
          2. กรมสรรพากรไม่ให้นำเงินจำนวน 190,000 บาท ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ไปหักออกจากเงินได้ พึงประเมินในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ใช่หรือไม่ เพราะเหตุใด
          3. ขอให้ปรับปรุงแก้ไขการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ได้รับยกเว้นเงินได้จำนวน 190,000 บาท สำหรับ ผู้มีเงินได้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ไว้ในขั้นตอนของการคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย
แนววินิจฉัย          1. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิจากการคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทแรกในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับ เงินได้สุทธิที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551
          2. การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีเงินได้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ตามข้อ 2 (72) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 257 (พ.ศ. 2549) ออกตามความในประมวลรัษฎากร และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 150) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2549 กำหนดให้ผู้ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จะต้องเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย โดยจะได้รับยกเว้น เงินได้ที่ได้รับในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ เฉพาะเงินได้ที่ได้รับส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท และผู้มีเงินได้จะเลือกใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินได้ประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือจะเลือกใช้สิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้จากเงินได้หลายประเภทและแต่ละประเภทจะยกเว้นภาษีเงินได้จำนวนเท่าใดก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 190,000 บาท โดยผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิในกรณีดังกล่าวต้องแสดงเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นพร้อมกับ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงเป็นกรณีที่ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เมื่อถึงกำหนดเวลา ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนั้น ผู้จ่ายเงินได้ไม่อาจนำไปคำนวณเพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีขอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยให้นำจำนวนเงินที่ได้รับการยกเว้น ภาษีเงินได้ดังกล่าว จำนวน 190,000 บาท สำหรับผู้มีเงินได้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ ไปใช้ในการคำนวณ หักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วย นั้น กรมสรรพากรขอรับไว้เพื่อพิจารณาต่อไป
เลขตู้: 1/35973

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020