เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/2932
วันที่: 3 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการประกอบกิจการธนาคารหมู่บ้าน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 56 มาตรา 91/2(5) มาตรา 91/5(5) ลักษณะแห่งตราสาร 5.
ข้อหารือ          ธนาคารหมู่บ้านมีสมาชิก 56 คน ได้ทำการออมทรัพย์ในรูปแบบของธนาคารฯ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2540 ธนาคารฯ จัดตั้งขึ้นโดยมิได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานหรือหน่วยงานใดทั้งสิ้น คณะกรรมการผู้ดำเนินงานของธนาคารฯ จะได้รับค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของผลกำไรของการดำเนินงาน การดำเนินงานมีหลักเกณฑ์ วิธีการ ดังนี้
          สมาชิกต้องเข้าหุ้นเริ่มต้นอย่างน้อย 10 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท เป็นเงิน 100 บาท เป็นอย่างต่ำ และเข้าหุ้นได้ไม่เกิน 3,000 หุ้น หรือไม่เกิน 30,000 บาท สิ้นปีสมาชิกจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 1.7 ต่อปี
          จึงขอทราบว่า การประกอบกิจการของธนาคารฯ ต้องเสียภาษีประเภทใด
แนววินิจฉัย          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีธนาคารฯ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประกอบกิจการให้สมาชิกกู้ยืมเงิน เมื่อสิ้นปี สมาชิกจะได้รับเงินปันผลร้อยละ 1.7 ต่อปี ธนาคารฯ จึงมีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1012 และมาตรา 1025 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมีเงินได้พึงประเมินประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากการให้สมาชิกกู้ยืมเงิน เข้า ลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร หากธนาคารฯ มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษี ที่ล่วงมาแล้วเกิน 30,000 บาท ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญให้สมาชิกกู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยง ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้กู้ยืมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 3.3 (รวมภาษีท้องถิ่น) ของรายรับ ทั้งนี้ ตาม มาตรา 91/2(5) และมาตรา 91/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. อากรแสตมป์ สัญญากู้ยืมเงิน เข้าลักษณะแห่งตราสาร 5. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร ผู้ให้กู้เป็นผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียอากร
เลขตู้: 71/35904

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020