เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.02)/1165
วันที่: 10 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่ผู้เอาประกันได้รับคืนระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันชีวิต
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          มีผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตบางราย ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบ ธุรกิจประกันภัย ให้มีการออกกรมธรรม์ประกันชีวิตซึ่งมีอายุกรมธรรม์เกิน 10 ปี ในรูปแบบที่ผู้เอาประกันจะชำระเบี้ย ประกันในแต่ละปีเป็นจำนวนเท่าๆ กัน โดยในปีที่สองและปีต่อๆ ไป บริษัทผู้รับประกันชีวิตจะมีการจ่ายเงินคืนให้แก่ ผู้เอาประกันชีวิตในอัตราร้อยละ 40 ของจำนวนเงินที่เอาประกัน เช่น ในกรณีที่เอาประกันตามความคุ้มครองชีวิต 200,000 บาท อายุกรมธรรม์ 15 ปี ผู้เอาประกันชีวิตจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปีเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ในปีที่สองและปีต่อๆ ไป ผู้เอาประกันชีวิตจะได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 80,000 บาท ซึ่งจะมีผลเท่ากับว่า ผู้เอาประกันชีวิต จ่ายเบี้ยประกันชีวิตในปีนั้นๆ ไปจริงเพียง 20,000 บาท จึงมีกรณีที่ต้องพิจารณาว่า เงินที่ผู้รับประกันชีวิตจ่ายคืน ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตในระหว่างอายุกรมธรรม์ประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตตามรูปแบบที่บริษัทประกันชีวิตกำหนดขึ้น ซึ่งมีอายุกรมธรรม์เกิน 10 ปี ชำระเบี้ย ประกันในแต่ละปีเป็นจำนวนเท่าๆ กัน โดยในปีที่สองและปีต่อๆ ไป บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายคืนเงินให้ผู้เอาประกันชีวิต ในอัตราร้อยละ 40 ของจำนวนเงินที่เอาประกัน เช่น ในกรณีที่เอาประกันตามความคุ้มครองชีวิต 200,000 บาท อายุกรมธรรม์ 15 ปี ผู้เอาประกันชีวิตจ่ายเบี้ยประกันในแต่ละปีเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ในปีที่สองและปีต่อๆ ไป ผู้เอาประกันชีวิตจะได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 80,000 บาท นั้น การจ่ายคืนเงินดังกล่าว อาจไม่เข้าลักษณะเป็น ผลประโยชน์ที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายคืนระหว่างอายุกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิต แต่อาจเป็นกรณีที่บริษัทประกันชีวิต มิได้มีเจตนาที่จะเรียกเก็บเบี้ยประกันชีวิตเป็นจำนวน 100,000 บาท โดยมีเจตนาที่จะเรียกเก็บเบี้ยประกันชีวิตเพียง 20,000 บาท เงินส่วนที่คืนแก่ผู้เอาประกันชีวิตจำนวน 80,000 บาท ก็จะไม่เข้าลักษณะเป็นเงินที่ได้จากการประกันภัย ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อาจเข้าลักษณะ เป็นส่วนลดหรือเงินได้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การคืนเงินให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตดังกล่าว บริษัทประกันชีวิตมีเจตนา ในการจ่ายคืนเงินอย่างไร
เลขตู้: 71/35934

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020