เลขที่หนังสือ | : กค 0702/พ./3065 |
วันที่ | : 6 มิถุนายน 2551 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 81(1)(ท) และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | สำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ มีความประสงค์จะนำเครื่องจักรกลที่เหลืออยู่และเกินความต้องการของกรมฯ ไปให้หน่วยงานอื่นและเอกชนเช่า กรณีสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ได้ซื้อเครื่องจักรกล จ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษา เครื่องจักรกล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ เช่น ค่าน้ำมัน- เชื้อเพลิง ค่าวัสดุสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อเครื่องจักร กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ กิจการทั้งสองประเภทไว้อย่างไร | แนววินิจฉัย | กรณีสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ได้นำเครื่องจักรของกรมฯ ไปให้หน่วยงานของกรมฯ หน่วยงานอื่นและ เอกชนเช่า แยกพิจารณาได้ ดังนี้ 1. สำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ มีฐานะเป็นผู้ประกอบการ ได้ดำเนินการให้เช่าเครื่องจักรกลของกรมฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และโดยที่เงินได้จากการให้เช่าเครื่องจักรกลได้นำเข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนฯ ของกรมฯ เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนฯ มิได้ส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่าย จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น หากมูลค่าของฐานภาษีจากการให้เช่าเครื่องจักรกลมีจำนวนเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ตามมาตรา 77/1(1)(4) และ (5) มาตรา 77/2(1) มาตรา 81(1)(ท) และมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร 2. หากสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและประเภทที่ ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้นำสินค้าหรือบริการที่ได้มาหรือได้รับมาในการประกอบกิจการของตนเองไปใช้ หรือจะใช้ในกิจการทั้งสองประเภท สำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ต้องเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้ (1) ถ้าสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้า หรือการรับบริการ เป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ถือเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภท ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาหักออกจากภาษีขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ (2) ถ้าสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่า ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ สินค้าหรือการรับบริการ ที่นำไปใช้ในกิจการทั้งสองประเภทเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด สำนักงานเงินทุน หมุนเวียนฯ จะต้องเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละประเภทกิจการตามข้อ 2 และข้อ 3 ของประกาศ อธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว |
เลขตู้ | : 71/35922 |