เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.03)/789
วันที่: 5 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณี การคำนวณเบี้ยปรับเงินเพิ่มโดยไม่ให้หักกลบลบหนี้ภาษีอากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          ขอทราบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณภาษี เบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ให้หักกลบ ลบหนี้ภาษีอากร อันเนื่องมาจากการตรวจปฏิบัติการหรือการตรวจสอบตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน สำหรับกรณีขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
          1. กรณีขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสด โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในกำหนดเวลาและขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเงินสด แต่ตรวจพบว่ายอดขายและยอดซื้อไม่ถูกต้อง
          2. กรณีขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในกำหนดเวลาและขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ตรวจพบว่ายอดขายและยอดซื้อไม่ถูกต้อง
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบ ภ.พ.30 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดเนื่องจาก มีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย แต่เจ้าพนักงานตรวจพบว่าในเดือนภาษีนั้นยอดภาษีขายและยอดภาษีซื้อตามแบบ ภ.พ.30 ที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้องโดยมีภาษีขายที่ยื่นไว้ขาดไปและภาษีซื้อยื่นไว้เกินไป ซึ่งเมื่อปรับปรุงภาษีขายและ ภาษีซื้อให้ถูกต้องแล้วยังคงมีภาษีชำระเกินอยู่ซึ่งผู้ประกอบการฯมีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินสดตาม จำนวนที่ถูกต้องนั้น ทั้งนี้ กรณีผู้ประกอบการฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็น เหตุให้จำนวนภาษีขายยื่นไว้ขาดไปและจำนวนภาษีซื้อยื่นไว้เกินไปดังกล่าวนั้น ผู้ประกอบการฯ จะต้องรับผิดเสีย เบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไปและของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3(3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 เรื่องการคำนวณเบี้ยปรับเงิน หรือเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษากร ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2542 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินต้องประเมินเบี้ยปรับโดยไม่อาจนำเบี้ยปรับไปหักกลบกับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการฯ มีสิทธิได้รับคืน
          2. กรณีตาม 2 แยกพิจารณาได้ดังนี้
               2.1 กรณีผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ขอใช้สิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนพันยอด ยกไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป โดยในการยื่นแบบ ภ.พ.30ของเดือนภาษีมกราคม 2549 มีภาษีซื้อมากกว่า ภาษีขายและมีเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ที่ยกมาจากเดือนก่อน แต่เจ้าพนักงานตรวจพบว่าในการยื่นแบบ ภ.พ.30 ของ เดือนดังกล่าว มียอดภาษีขายและยอดภาษีซื้อตามแบบ ภ.พ.30 ที่ยื่นไว้ไม่ถูกต้อง โดยมีภาษีขายที่ยื่นไว้ขาดไป และภาษีซื้อที่ได้ยื่นไว้เกินไปและเมื่อปรับปรุงภาษีขายและภาษีซื้อให้ถูกต้องแล้วปรากฏว่ามีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ซึ่งผู้ประกอบการฯ จะต้องชำระภาษีเพิ่มเติมตามจำนวนที่ถูกต้อง และต้องรับผิดดังนี้
               (1) กรณีผู้ประกอบการฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวน ภาษีขายที่ยื่นไว้ขาดไปและจำนวนภาษีซื้อที่ยื่นไว้เกินไปจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขาย ที่ยื่นไว้ขาดไปและของจำนวนภาษีซื้อที่ยื่นไว้เกินไปตาม มาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 3(3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 เรื่องการคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และ มาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2542
               (2) กรณีผู้ประกอบการฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุให้จำนวน ภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ต้องเสียเบี้ยปรับอีกจำนวนหนึ่งเท่า ของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนไป ตามมาตรา 89(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
               (3) กรณีผู้ประกอบการฯ ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากยื่นแบบ ภ.พ.30 ไว้ไม่ถูกต้องหรือ มีข้อผิดพลาดอันเป็นเหตุจำนวนภาษีที่ต้องชำระในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไปผู้ประกอบการต้องเสียเงินเพิ่มตาม มาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้คำนวณเงินเพิ่มจากเงินภาษีที่ต้องชำระในเดือนภาษี หลังจากนำเครดิต ภาษีที่เหลืออยู่ซึ่งพันยอดยกมาจากเดือนก่อนมาหักออก ทั้งนี้ ตามข้อ 21 ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
               2.2 กรณีผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ใช้สิทธินำเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนพัน ยอดยกไปชำระภาษีในเดือนถัดไปโดยในการยื่นแบบ ภ.พ.30 ของเดือนมีนาคม 2549 ได้ยื่นภาษีขายและภาษีซื้อไว้ถูกต้องโดยมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อและเมื่อนำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่พันยอดมาจากเดือนก่อนมาหักออกจะไม่มี ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ แต่เนื่องจากเครดิตภาษีที่เหลืออยู่พันยอดมาจากเดือนก่อนนั้นได้นำมาใช้เกินกว่าจำนวน เครดิตภาษีที่เหลืออยู่จริง อันเป็นเหตุให้การชำระภาษีตามแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนเนื่องจากเมื่อนำ เครดิตภาษีที่เหลืออยู่พันยอดยกมาจากเดือนตามจำนวนที่เหลืออยู่จริงมาหักออกจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ ดังนั้น ผู้ประกอบการฯ จะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยังไม่ได้ชำระและต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้คำนวณเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่ต้องคำนวณเบี้ยปรับตาม มาตรา 89(3) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 21 ของคำสั่งกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 71/35925

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020