เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702(กม.09)/พ./1196
วันที่: 12 มิถุนายน 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีขายที่เกิดขึ้นก่อนโอนกิจการทั้งหมด
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86 และมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่ บริษัท B ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 โดยยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลง ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.09 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2549 ปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ทำสัญญาขายรถยนต์นั่ง พร้อมกับส่งมอบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 แต่ได้ออกใบกำกับภาษีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัทฯ ขอทราบว่า
          1. กรณีบริษัทฯ ได้ขายสินค้าหรือให้บริการในระหว่างวันที่ 28 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัทฯ ยังมีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ทุกครั้งในทันที ที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นพร้อมกับ ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ โดย บริษัทฯ ยังคงมีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการในช่วงเวลาดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัทฯ ขายรถยนต์พร้อมส่งมอบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี ในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นพร้อมส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้า ตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร การที่บริษัทฯ จัดทำใบกำกับภาษีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตราดังกล่าว ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ และค่าปรับทางอาญา ตามมาตรา 89(5) และมาตรา 90/2(3) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษี ดังกล่าว ภายหลังจากโอนกิจการและเลิกกิจการแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องรับผิด เสียเบี้ยปรับและค่าปรับทางอาญา ตามมาตรา 89(6) และมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าวถือได้ว่า บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหลายกรณี ตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 กำหนดให้ เจ้าพนักงานประเมินสั่งเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียว ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีตาม 1 หากบริษัทฯ ได้ขายสินค้าหรือให้บริการ ก่อนวันโอนกิจการ บริษัทฯมีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษี และสำเนาใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งในทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมกับส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และมีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้า หรือรับบริการในช่วงเวลาดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีตาม 2 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณี ที่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า ได้รับชำระราคาสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษี โดยความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของ การกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี และผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้ามีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ทันทีที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น พร้อมทั้งให้ส่งมอบใบกำกับภาษีนั้นแก่ผู้ซื้อสินค้า ตามมาตรา 78 (1) และมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ ขายรถยนต์พร้อมส่งมอบเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 แต่ได้จัดทำ ใบกำกับภาษีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังจากส่งมอบรถยนต์แล้ว จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและค่าปรับทาง อาญา ตามมาตรา 89(5) และตามมาตรา 90/2(3) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณี บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีภายหลัง จากโอนกิจการทั้งหมดให้ บริษัท B แล้วนั้น ถือว่า บริษัทฯ ไม่ใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและค่าปรับทางอาญา ตามมาตรา 89(6) และมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหลายกรณี ตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียวซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บเงินได้ เป็นจำนวนมาก ตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542ฯ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 71/35942

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020