วิธีการจัดทำรายงานเงินสดรับ - จ่าย
1. การจัดทำรายงานเงินสดรับ จ่าย จะต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเพิ่มช่องรายการให้เหมาะสมกับสภาพของกิจการได้
2. ต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ จ่าย เป็นภาษาไทย ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ
3. ต้องลงรายการในรายงานเงินสดรับ จ่าย ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่มีรายได้หรือรายจ่าย
4. รายการที่นำมาลงในรายงานเงินสดรับ จ่าย
- ต้องมีเอกสารประกอบการลงรายงาน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ฯลฯ
- การลงรายการรายรับและรายจ่ายให้ลงเป็นยอดรวมของแต่ละวันทำการ โดยมีเอกสารประกอบรายรับ และรายจ่ายดังกล่าว หรือสามารถลงรายการรายรับและรายจ่ายโดยลงรายละเอียดรายการของรายรับ รายจ่ายที่เกิดขึ้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน
- รายจ่ายที่นำมาลงในรายงานเงินสดรับ จ่าย ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ
- สำหรับภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายนั้น สามารถนำมาลงเป็นต้นทุนของสินค้าหรือค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- หากมีการขายสินค้า/ให้บริการ ซื้อสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นเงินเชื่อ ให้บันทึกรายการในวันที่ได้รับชำระหรือวันที่จ่ายชำระค่าสินค้า/บริการนั้น โดยอธิบายเพิ่มเติมในช่องหมายเหตุ
5. ให้สรุปยอดรายรับ และรายจ่าย เป็นรายเดือนเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตัวอย่างการลงรายการในรายงานเงินสดรับ-จ่าย
การนำยอดรายรับ - รายจ่าย ไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้ประกอบการที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) หรือภาษี
เงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด.90) สามารถนำรายรับจากรายงานเงินสดรับ จ่าย มาแสดงเป็นยอดเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการ และสามารถนำรายจ่ายตามรายงานมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจริงได้ ทั้งนี้ รายจ่ายดังกล่าวต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดโดยปฏิบัติ เช่นเดียวกับบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด
สำหรับการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11 ) พ.ศ. 2502 แทนการหักค่าใช้จ่ายจริงได้