เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/4298
วันที่: 24 กรกฎาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการนำเงินปันผลที่ได้รับมารวมคำนวณเสียภาษี
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(4)(ข) มาตรา 50(2)(จ) และมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาง ก. ได้รับเงินปันผลที่จ่ายจากบริษัท A ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2550 โดยหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ได้หมายเหตุว่า "เนื่องจากเป็นเงินปันผลที่ บริษัท A จ่ายจากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน" และ นาง ก. ได้สอบถาม บริษัท A ถึงยอดเงินปันผลดังกล่าวได้ความว่า เงินปันผลดังกล่าวเป็นเงินปันผลจากบริษัทลูกของ บริษัท A ซึ่งบริษัทลูกเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน นาง ก. จึงขอทราบว่า เงินปันผลตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุข้างต้น จะต้อง นำมารวมคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณี บริษัท A ได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัท A ย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงิน ปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ต่อมาได้นำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจ่ายให้แก่นาง ก. ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หาก ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท A ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินปันผลที่จ่าย ตามมาตรา 50(2)(จ) แห่ง ประมวลรัษฎากร นาง ก. ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ตามที่ บริษัท A ได้หักไว้ โดยไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(3) วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากเลือกนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ผู้มีเงินได้ย่อมไม่ได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตาม มาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
          2. หากผู้มีเงินได้ได้รับเงินปันผลจากผู้จ่ายหลายราย และผู้มีเงินได้เลือกนำเงินปันผลไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ผู้มี เงินได้จะต้องนำเงินปันผลตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับในปีภาษีทุกรายมารวมคำนวณภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา
เลขตู้: 71/36034

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020