เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./4297
วันที่: 24 กรกฎาคม 2551
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีและใบลดหนี้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 78 มาตรา 82 และมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท A ขอหารือ กรณีการออกใบกำกับภาษีและใบลดหนี้ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
          1. บริษัทฯ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในการประกอบกิจการขายทัวร์ท่องเที่ยว และประกอบกิจการเรือขนส่ง ผู้โดยสารในราชอาณาจักร บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
          2. บริษัทฯ มีเรือเร็วที่ใช้ในการประกอบกิจการจำนวน 3 ลำ และได้นำเรือทั้ง 3 ลำดังกล่าวไปค้ำประกัน เงินกู้กับธนาคาร ต่อมาบริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท B ต่อเรือลำใหม่เพิ่มอีก 1 ลำ พร้อมกับได้จ่ายชำระค่างวดในการต่อเรือ ให้กับบริษัท B ไปแล้ว จำนวน 2 งวด คือเงินมัดจำ และเงินค่างวดที่ 1 หลังจากนั้น บริษัทฯ ได้เปลี่ยนแหล่งเงินกู้จาก ธนาคารมาเป็น บริษัท C โดยเอาเรือจำนวน 3 ลำ ที่มีอยู่เดิมไปขายให้กับ บริษัท C และเช่าเรือจากบริษัท C โดยจ่าย ค่าเช่าเป็นรายเดือน บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีขายให้กับบริษัท C ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดง รายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 30) ของเดือนพฤศจิกายน 2550 แล้ว
          3. บริษัทฯ ได้นำเงินจากการขายเรือ ไปชำระหนี้ให้กับธนาคาร และได้ทำวงเงินเพิ่มกับบริษัท C เพื่อซื้อเรือ เพิ่มอีกจำนวน 2 ลำ คือ เรือที่กำลังว่าจ้างให้บริษัท B ต่ออยู่ และอีก 1 ลำ นำเข้ามาจากต่างประเทศ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
               (1) กรณีบริษัทฯ ขายเรือจำนวน 3 ลำ ซึ่งเป็นเรือใช้ทั้งกิจการขนส่งผู้โดยสารในราชอาณาจักร ให้กับ บริษัท C ซึ่งกิจการดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการท่องเที่ยวที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีขายให้กับบริษัท C หรือไม่
               (2) กรณีบริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น และออกใบกำกับภาษีขาย เฉพาะทัวร์ท่องเที่ยว บริษัทฯ ไม่เคยนำภาษีซื้อจากกิจการดังกล่าวมาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีขาย กรณีดังกล่าว บริษัทฯ จะขอคืนภาษีได้หรือไม่
               (3) กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินมัดจำและเงินค่างวดที่ 1 สำหรับค่าจ้างต่อเรือให้บริษัท B ซึ่งบริษัท B ได้ออก ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินให้บริษัทฯ แล้ว ต่อมาบริษัทฯ ขายเรือลำดังกล่าวให้กับบริษัท C โดยให้บริษัท B นำเงิน มัดจำรวมทั้งเงินงวดที่ 1 ที่ได้รับจากบริษัทฯ มาจ่ายให้บริษัทฯ แทนบริษัทอยุธยาฯ แล้วทางบริษัทอยุธยาฯ จ่ายคืนให้ บริษัท B โดยบริษัท B ไม่ได้มีการคืนเงินมัดจำและเงินค่างวดที่ 1 ให้กับบริษัทฯ จริง ในกรณีนี้ บริษัท B มีสิทธิออกใบลดหนี้ได้หรือไม่
               (4) กรณีบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัทฯ จะได้รับยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารในราชอาณาจักร และกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่บริษัทฯ ขายเรือซึ่งใช้ในการประกอบกิจการดังกล่าว ถือว่า บริษัทฯ ขายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี ให้กับบริษัทอยุธยาฯ ผู้ซื้อทันทีเมื่อความรับผิดเกิดขึ้น ตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัทฯ มีภาษีซื้อที่เกิดจากการประกอบกิจการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อมาหัก ออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ ไม่เคยนำ ภาษีซื้อมาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีขาย บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าว มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นแบบ ภ.พ. 30 เพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีตามใบกำกับภาษี ภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีบริษัท B ไม่ได้คืนเงินมัดจำและเงินค่างวดที่ 1 ค่าจ้างต่อเรือ ให้แก่บริษัทฯ จริง บริษัท B จึงไม่มีสิทธิ ออกใบลดหนี้ให้แก่บริษัทฯ ตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82 ) เรื่อง กำหนดเหตุอื่นตามมาตรา 82/10(1)(2)(3) และ(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542
          4. กรณีการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นการได้รับยกเว้นเฉพาะกรณี ภาษีเงินได้ ไม่ครอบคลุมถึงการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
เลขตู้: 71/36033

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020