เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0702/4625
วันที่: 4 สิงหาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน และ การขายทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาด
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 65 ตรี (12)(13) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท C ประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ ทรัพย์สินหลักที่ให้เช่า ได้แก่ รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์กระบะ และรถตู้โดยสาร ซึ่งบริษัทฯ ได้มาจากการเช่าซื้อและเช่าแบบลิสซิ่ง ต่อมาใน ระหว่างปี พ.ศ. 2547 บริษัทฯ ได้ถูกกลุ่มมิจฉาชีพที่ตั้งบริษัทขึ้นมาฉ้อโกง โดยหลอกลวง ทำสัญญาเช่ารถยนต์กับบริษัทฯ จำนวนทั้งสิ้น 56 คัน ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ขาดทุนตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2547 และมีภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ชำระเกินตามแบบ ภ.ง.ด.50 ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2547 ถึงรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้รับเงินภาษีคืน เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ตั้งประเด็นว่า กรณีบริษัทฯ ได้จำหน่ายรถยนต์ที่ให้เช่าของบริษัทฯ โดยมีราคาขายรถยนต์แต่ละคันต่ำกว่าราคาตลาด และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัทฯ คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ ที่ให้เช่าตามวิธีเส้นตรง มีอายุการใช้งาน 8 ปี ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี โดยมิได้ใช้วิธีเส้นตรง มีอายุการใช้งาน 5 ปี ในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การคำนวณค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ของปีภาษีก่อนหน้านี้ บริษัทฯ จึงขอทราบเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
          1. กรณีบริษัทฯ คำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่ให้เช่าตามวิธีเส้นตรง มีอายุการใช้รถยนต์ 8 ปี ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ถือว่า ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง บริษัทฯ มีสิทธินำผลต่างของค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 มา ปรับปรุงหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลย้อนหลัง ตั้งแต่ รอบระยะเวลาบัญชีปีที่ซื้อทรัพย์สินได้หรือไม่
          2. กรณีบริษัทฯ ขายรถยนต์ก่อนครบอายุการใช้งาน 8 ปี คำนวณค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่ให้เช่าตามวิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ทำให้บริษัทฯ แสดงมูลค่าตามบัญชี ณ วันขายสูงกว่ามูลค่าตามบัญชี ณ วันขายที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อม ราคาของรถยนต์ที่ให้เช่าตามวิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ตามมาตรา 4(5) แห่ง พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อม ราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ซึ่งทำให้มีผลขาดทุนจากการจำหน่ายทรัพย์สิน กรณีดังกล่าว ถือเป็นการโอนทรัพย์สินที่มีราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควรตาม มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่
          3. กรณีรถยนต์ของบริษัทฯ จำนวน 56 คันที่สูญหาย บริษัทฯ ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย จำกัด (มหาชน) การเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญา ประกันภัย อยู่ในระหว่างฟ้องร้องและคดีความยังไม่สิ้นสุด ซึ่งรถยนต์ดังกล่าว ยังมีค่าใช้จ่าย ค่าเช่าตามสัญญาลีสซิ่งและผลเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อ กรณีดังกล่าวจะถือเป็นผลเสียหาย อันอาจได้กลับคืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่ง ประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย หรือเป็น รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ประมวลรัษฎากร ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่าย
แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ใช้วิธีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่ได้มาตามวิธี เส้นตรง ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จำนวนปีอายุการใช้รถยนต์ 8 ปี ตลอดอายุการใช้งาน ของรถยนต์ดังกล่าว หากเป็นการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีการทางบัญชีที่ รับรองทั่วไป และเป็นการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่ได้มาในอัตราที่ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สิน ทั้งนี้ สำหรับทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มี ที่นั่งไม่เกิน 10 คนหรือรถยนต์นั่งให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะ ส่วนที่ไม่เกิน 1,000,000 บาท บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิกระทำได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 มาตรา 4(5) และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
          2. กรณีบริษัทฯ ขายรถยนต์ที่มีอยู่ ซึ่งคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ ที่ให้เช่าตามวิธีเส้นตรง ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี ทำให้บริษัทฯ แสดงมูลค่าตามบัญชี ณ วันขายสูงกว่ามูลค่าตามบัญชีที่หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่ให้เช่าตามวิธี เส้นตรงในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี หากราคาขายรถยนต์ดังกล่าวของบริษัทฯ ต่ำกว่าราคาตลาด ย่อมถือเป็นการโอนทรัพย์สินที่มีราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. กรณีรถยนต์ของบริษัทฯ สูญหาย แต่บริษัทฯ ยังคงมีค่าใช้จ่ายค่าเช่าตามสัญญา ลีสซิ่งและผลเสียหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อ ซึ่งบริษัทฯ ทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ไทยพาณิชย์ฯ บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลได้ ดังนี้
               3.1 กรณีค่าเช่ารถยนต์ตามสัญญาลิสซิ่ง ซึ่งบริษัทฯ ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ ดังกล่าว แต่บริษัทฯ ได้ทำประกันภัยรถยนต์ไว้ หากค่าเช่ารถยนต์เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพัน ตามสัญญาลิสซิ่งและเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธิหัก เป็นรายจ่ายได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
               3.2 กรณีรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำประกันภัยรถยนต์ไว้ หากบริษัทฯ มีผลเสียหายที่เกิดจากรถยนต์สูญหายไป ถือเป็นผลเสียหายอันอาจได้กลับ คืนเนื่องจากการประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ ซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่ให้นำมาหักเป็น รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อรถยนต์สูญหาย บริษัทฯ จะต้องรอจนกว่าจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย เสียก่อน ถ้าผลเสียหายมากกว่าค่าสินไหมทดแทนผลต่างถือเป็นผลเสียหายที่เป็นรายจ่าย ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่ถ้าผลเสียหายน้อยกว่า ค่าสินไหมทดแทน ผลต่างถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายนั้น
เลขตู้: 71/36064

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020