เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8522
วันที่: 11 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการประกอบกิจการร่วมกัน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. บริษัทฯ ร่วมกับบริษัท A. (A.) และบริษัท O. (O.) ได้ทำสัญญาความร่วมมือระหว่างบริษัทค้าร่วม (CONSORTIUM AGREEMENT) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการโครงการขั้นตอนการออกแบบ ส่งมอบ ส่งเสริม ทดสอบ ว่าจ้าง ปฏิบัติการ และการจัดการที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าสัมพันธ์ และระบบใบแจ้งหนี้กับ บริษัท ศ. (ศ.) โดย CONSORTIUM AGREEMENT ดังกล่าว มีข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือ ความสัมพันธ์ ตลอดจนกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทค้าร่วม ทั้งสาม ซึ่งมีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบ แบ่งแยกงาน และแบ่งแยกค่าตอบแทน ระหว่างบริษัทค้าร่วมไว้อย่างชัดเจน และมีการแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นผู้นำบริษัทค้าร่วม (CONSORTIUM LEADER) เพื่อเป็นตัวแทนของบริษัทค้าร่วมในการติดต่อประสานงาน กับ ศ. และเป็นผู้มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าระบบใบแจ้งหนี้ (Invoice Management System) และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบกับ ศ. ตามหนังสือแต่งตั้งตัวแทน ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ซึ่งกำหนดว่า การกระทำใดๆ ที่บริษัทฯ ได้กระทำไป บริษัทค้าร่วมจะรับผิดตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน CONSORTIUM AGREEMENT แต่จะรับผิดต่อ ศ. คู่สัญญา ในฐานะลูกหนี้ร่วม
          2. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 และวันที่ 15 ธันวาคม 2547 บริษัทฯ ในฐานะ ตัวแทนของบริษัทค้าร่วมและในฐานะผู้ให้เช่า ได้เข้าทำสัญญาเช่าระบบใบแจ้งหนี้และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ และข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่าระบบฯ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2546 ระยะเวลาการเช่า 5 ปี กับ ศ. ในฐานะผู้เช่า โดยในส่วนงานของ O. นั้น ไม่ได้รับการคัดเลือกจาก ศ. ดังนั้น ในการเรียกเก็บเงินจาก ศ. จึงไม่ปรากฏหลักฐานใบกำกับภาษี ของ O. และไม่ปรากฏหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ ศ. ออกให้แก่ O. แต่อย่างใด
          3. บริษัทฯ เห็นว่า การเข้าร่วมกันของบริษัทค้าร่วมตาม 1. ไม่เข้าลักษณะเป็นกิจการร่วมค้า (JOINT VENTURE) เนื่องจาก CONSORTIUM AGREEMENT ไม่ได้มีข้อตกลงว่า บริษัททั้งสามจะเข้าร่วมทุนกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงานหรือเทคโนโลยี และบริษัทค้าร่วมไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันจะพึงได้จากการทำสัญญาเช่าระบบฯ กับ ศ. แต่อย่างใด แต่เข้าลักษณะเป็นการรวมกลุ่มบริษัท (CONSORTIUM) เพื่อกระทำกิจการ แม้ว่าบางข้อความที่ปรากฏในเอกสารจะใช้คำว่า "กิจการร่วมค้า" ก็เป็นเพียงเพื่อให้ถ้อยคำดังกล่าวสอดคล้องกับข้อกำหนดของ ศ. ซึ่งได้กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้า จะเป็น JOINT VENTURE หรือ CONSORTIUM ก็ได้ จึงขอหารือว่า ความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย
          กรณีบริษัทฯ กับ A. และ O. ได้ทำสัญญาความร่วมมือระหว่างบริษัทค้าร่วม (CONSORTIUM AGREEMENT) เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 เพื่อวัตถุประสงค์ในการเข้าทำสัญญาเช่าระบบฯ ในฐานะผู้ให้เช่ากับ ศ. ในฐานะผู้เช่า โดยตกลงแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบ แบ่งแยกงาน และแบ่งแยกค่าตอบแทนระหว่างบริษัทค้าร่วมไว้ อย่างชัดเจนตามที่ปรากฏใน CONSORTIUM AGREEMENT ซึ่งเป็นไปตามคุณสมบัติ ของผู้เสนอราคาที่ ศ. กำหนดให้เป็น CONSORTIUM ได้เมื่อบริษัทค้าร่วมทั้งสามไม่ได้ร่วมทุนกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงานหรือเทคโนโลยี และไม่มีการแบ่งปันผลกำไร หรือขาดทุนในระหว่างสมาชิกบริษัทค้าร่วม แม้ว่าหนังสือแต่งตั้งตัวแทนระหว่างบริษัทค้าร่วมจะกำหนดให้บริษัทค้าร่วมทั้งสามต้องร่วมรับผิดชอบอย่างลูกหนี้ร่วมต่อ ศ. ก็ตาม แต่ความรับผิดนั้นย่อมเป็นไปตามที่ระบุไว้ใน CONSORTIUM AGREEMENT เมื่อบริษัทค้าร่วมแต่ละแห่งได้เรียกเก็บค่าบริการตามส่วนของการให้บริการของตน ซึ่งแยกต่างหากจากบริษัทค้าร่วมอื่น และ ศ. ผู้จ่ายเงิน ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งออกหนังสือรับรอง การหักภาษี ณ ที่จ่ายแยกเป็นแต่ละบริษัท ดังที่ปรากฏในเอกสารรายละเอียดการออก ใบกำกับภาษี ตัวอย่างใบกำกับภาษีของบริษัทฯ และของ A. ตลอดจนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ ศ. ออกให้แก่บริษัทฯ และ A. กรณีดังกล่าว ถือได้ว่าการเข้าร่วมกันของบริษัทค้าร่วมไม่เข้าลักษณะของกิจการร่วมค้า (JOINT VENTURE) ตาม มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทแต่ละรายจึงต้องแยกกันยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เลขตู้: 71/36256

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020