เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8754
วันที่: 23 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและ ส่งเสริมการขายไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (13)(14) มาตรา 70 มาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 83/6 แห่ง ประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ก. เป็นบริษัทแม่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น ได้ทำสัญญาการตลาด และส่งเสริมการขายกับบริษัท ก. ในเครือทั่วโลก เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งกัน และกัน เพื่อเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์โดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น มีขั้นตอนในการดำเนินงาน ดังนี้
          1. บริษัท ก.ในเครือทั่วโลก จะจัดกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายในประเทศของตน เพื่อส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าที่มีสำนักงานหรือสถานประกอบการ และมี ความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท ก.ในเครือทั่วโลก ตั้งอยู่ในสองประเทศขึ้นไป ประกอบด้วย การแนะนำผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การตอบคำถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าของตนและบริษัท ก.ในเครือทั่วโลก จัดส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า จัดเตรียม และประเมินข้อมูลเทคโนโลยีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การให้บริการหลังการขายและการสนับสนุนอื่นๆ แต่ไม่รวมถึงการหาลูกค้ารายใหม่ การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า การจัดส่งผลิตภัณฑ์ และ การเรียกเก็บเงินค่าขายผลิตภัณฑ์จากลูกค้า
          2. บริษัท ก.ในเครือทั่วโลก จัดทำรายงานกิจกรรมทางการตลาดและการส่งเสริมการขาย ตามระบบและรูปแบบรายงานมาตรฐานที่บริษัท ก.ฯ กำหนดไว้ และจัดส่งให้บริษัทฯ ผ่านทาง จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) และกลุ่มบริษัทฯ รายงานข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมไปให้กับ บริษัท ก. ทุกหกเดือน ดังนี้
               (1) กิจกรรมทางการตลาดและการส่งเสริมการขายที่จัดทำโดยพนักงานขายของแต่ละประเทศ
               (2) ต้นทุนทางการตลาดและการส่งเสริมการขายที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละประเทศ บวกด้วยอัตราส่วนเพิ่มร้อยละแปด
               (3) ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจริงที่ขายให้กับลูกค้าของบริษัท ก.ในเครือทั่วโลก
          3. บริษัท ก.ฯ นำข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับรายงานจากบริษัท ก.ในเครือทั่วโลก มารวม คำนวณหาค่าบริหารทางการตลาดและส่งเสริมการขาย เพื่อปันส่วนเรียกเก็บจากบริษัท ก. ในเครือทั่วโลก (รวมบริษัทฯ ด้วย) ตามยอดรายได้ที่แต่ละบริษัทได้รับจากการขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าของบริษัท ก.ในเครือทั่วโลก การชำระค่าบริหาร หากค่าบริหารที่บริษัท ก. ในเครือทั่วโลก ปันส่วนเรียกเก็บจากบริษัทฯ มากกว่า บริษัท ก. ออกใบเพิ่มหนี้ (Debit note) เพื่อเรียกเก็บส่วนต่างค่าบริหารมายังบริษัทฯ หากค่าบริหารที่บริษัท ก.ในเครือทั่วโลก ปันส่วน เรียกเก็บจากบริษัทฯ น้อยกว่า บริษัท ก. ออกใบลดหนี้ (Credit note) ให้แก่บริษัทฯ
          4. กิจกรรมทางการตลาดและการส่งเสริมการขาย
               (1) บริษัท ก.ในเครือทั่วโลก จะเป็นทั้งผู้รับการบริการและผู้ให้บริการ กรณีบริษัท ก.ในเครือทั่วโลก ให้บริการ การให้บริการทั้งหมดจะเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นลงในประเทศญี่ปุ่นและ ต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่มีการให้บริการในประเทศไทย ไม่มีการส่งพนักงานเข้ามาให้บริการ ประจำในประเทศไทย พนักงานผู้ให้บริการมีฐานะเป็นลูกจ้างประจำของบริษัท ก.ในเครือทั่วโลก
               (2) บริษัท ก.ในเครือทั่วโลก ไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ แก่บริษัทฯ ในอันที่จะเข้าลักษณะ เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี แผนผัง สูตร หรือกรรมวิธีลับใดๆ หรือให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับ ประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ใดๆ และไม่มีการให้บริการหรือกิจกรรมทางการตลาดและส่งเสริมการขายผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย
แนววินิจฉัย
          รายจ่ายค่าบริหารส่วนต่างเกิดขึ้นในต่างประเทศที่บริษัท ก. เป็นผู้รวบรวมและปันส่วน รายจ่ายเรียกเก็บมายังบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงข้างต้น อาจพิจารณาได้ ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล หากมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ของบริษัทฯ และมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี (13) (14) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หากการให้บริการทั้งหมดเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นลงในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศทั้งสิ้น ไม่มีการให้บริการในประเทศไทย ไม่มีการส่งพนักงานเข้ามาให้บริการประจำในประเทศไทย ไม่มีการให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือผ่านช่องทาง สื่อสารต่างๆ หากการให้บริการดังกล่าว ไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ ที่เป็นการให้เทคโนโลยี หรือให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือทางวิทยาศาสตร์ และมิให้บริการโดยผ่านสถานประกอบการถาวรในไทย บริษัท ก.ฯ จึงจะได้รับยกเว้นภาษี เงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยจากค่าตอบแทนที่ได้รับดังกล่าว ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้กับบริษัท ก. ที่ประเทศญี่ปุ่น จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจาก เงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด
          3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม หากการให้บริการทั้งหมดเกิดขึ้นและเสร็จสิ้นลงในประเทศญี่ปุ่น และต่างประเทศทั้งสิ้น โดยไม่มีการใช้บริการนั้นในประเทศไทย กรณีดังกล่าว ไม่ถือเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ จึงไม่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 77/2 วรรคสาม และมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 71/36284

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020