เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/8452
วันที่: 9 ธันวาคม 2551
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีค่าเบี้ยประกันภัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 3 เตรส มาตรา 63 มาตรา 27 ตรี และข้อ 12/3 ของคำสั่งกรมฯ ที่ ท.ป.4/2528ฯ
ข้อหารือ          1. ธนาคารฯ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการให้สินเชื่อกับลูกค้าที่ทำธุรกิจการค้า ซึ่งในการให้สินเชื่อลูกค้าจะต้องจัดทำประกันอัคคีภัยหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันให้กับธนาคารฯ โดยธนาคารฯ เป็นผู้จัดทำประกันภัยผ่านบริษัทประกันภัยที่เข้ามารับงานประกันภัยกับธนาคารฯ และให้ลูกค้าซึ่งเป็นนิติบุคคลชำระค่าเบี้ยประกันภัยผ่านธนาคารฯ โดยลูกค้าจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 และนำส่งกรมสรรพากร จากการดำเนินการดังกล่าว ธนาคารฯ ได้ประสบปัญหา ดังนี้
               1.1 กรณีลูกค้าไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเหตุให้ธนาคารฯ จะต้องเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัยแทนลูกค้าไปก่อน ธนาคารฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 และนำส่งกรมสรรพากรในฐานะผู้กระทำการแทน เมื่อธนาคารฯ ติดตามค่าเบี้ย ประกันภัยจากลูกค้า ลูกค้าได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ไว้และนำส่งกรมสรรพากร อีก จึงทำให้มีการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายซ้ำ ทำให้เกิดปัญหาทางบัญชีของธนาคารฯ
               1.2 กรณีลูกค้าชำระค่าเบี้ยประกันภัยและได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไปยังบริษัท ประกันภัยโดยตรง โดยไม่ได้แจ้งให้ทางธนาคารฯ ทราบ เป็นเหตุให้ธนาคารฯ เป็นผู้ชำระค่าเบี้ย ประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัยแทนลูกค้าและได้หักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 นำส่งกรมสรรพากร ในฐานะผู้กระทำการแทนซ้ำอีก โดยธนาคารฯ จะขอคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยของลูกค้าจ่ายไปคืนจากบริษัทประกันภัย ซึ่งทางบริษัทประกันภัยคืนค่าเบี้ยประกันภัยของลูกค้า ที่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้คืน ทำให้ยอดหนี้ของลูกค้าขาดไปเท่ากับยอดหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
               1.3 ธนาคารฯ จึงขอทราบว่า
               1.3.1 กรณีธนาคารฯ เป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนลูกค้า โดยได้หัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 และนำส่งกรมสรรพากรในฐานะผู้ทำการแทน กรณีดังกล่าว ธนาคารฯ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร ได้หรือไม่ เนื่องจากบริษัทประกันภัยให้ความเห็นว่า ธนาคารฯ ควรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวนและไม่ควรหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ เพราะหากลูกค้าชำระค่าเบี้ยประกันภัยโดยหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ ธนาคารฯ สามารถนำหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย มาขอคืนจากบริษัทประกันภัยได้นั้น ถูกต้อง หรือไม่ อย่างไร
               1.3.2 กรณีที่มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรซ้ำ บุคคลใด เป็นผู้มีหน้าที่ขอคืนเงินดังกล่าวจากกรมสรรพากร ต้องใช้เอกสารใดประกอบการขอคืน และมีระยะ เวลาการขอคืนหรือไม่ อย่างไร
               1.3.3 บริษัทประกันภัยสามารถนำหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ที่ได้จ่ายไปทั้ง 2 ฉบับ (ลูกค้า 1 ฉบับ และธนาคารฯ 1 ฉบับ) ไปใช้ซ้ำซ้อนได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย
          1. กรณีธนาคารฯ ให้สินเชื่อกับลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยลูกค้าได้นำหลักทรัพย์มาเป็นหลักประกันกับธนาคารฯ และทำประกันอัคคีภัยหลักทรัพย์ดังกล่าวกับ บริษัทประกันภัย หากลูกค้าไม่ได้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแก่บริษัทประกันภัย ทำให้ธนาคารฯ ต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทนลูกค้าไปก่อน กรณีดังกล่าวถือว่า ธนาคารฯ มีฐานะเป็นตัวแทนในการจ่ายเงินแทนลูกค้าซึ่งเป็นตัวการ ธนาคารฯ ผู้จ่ายเงิน จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 ตามข้อ 12/3 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้กับบริษัทประกันภัยในนามของลูกค้า โดยเมื่อธนาคารฯ เรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายแทนลูกค้าไปก่อนคืน ลูกค้าไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด และหากการจ่ายคืนเงินดังกล่าวลูกค้าได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินดังกล่าวคืนให้แก่ธนาคารฯ จึงเป็นกรณีหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ลูกค้าซึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์จึงมีสิทธิขอคืนโดยยื่นคำร้อง ค.10 ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2539
          2. กรณีลูกค้าชำระค่าเบี้ยประกันภัยและได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 จากบริษัทประกันภัย โดยไม่ได้แจ้งให้ธนาคารฯ ทราบ เป็นเหตุให้ธนาคารฯ จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัยและได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 นำส่งกรมสรรพากรซ้ำ กรณีดังกล่าวถือว่า ธนาคารฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้เกินกว่าที่ควรต้องเสีย ธนาคารฯ ซึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์จึงมีสิทธิขอคืนโดยยื่นคำร้อง ค.10 ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไป ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ.2539
เลขตู้: 71/36253

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020